ข้าวเหนียวดำลืมผัว

รายละเอียด

  

ข้าวเหนียวดำลืมผัว (Oryza sativa L. variety Leum Phua) เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ข้าวลืมผัว เป็นข้าวเหนียวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวกล้องสีม่วงดำ ใบเขียวม่วง ไวต่อช่วงแสง อายุสั้น เก็บเกี่ยวประมาณกลางเดือนตุลาคม เป็นข้าวนาปีพื้นเมืองเดิมของชาวเขาเผ่าม้งในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเดิมปลูกในสภาพไร่บนภูเขาที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ดังนั้นถ้าพูดถึงข้าวลืมผัวแล้วชาวเขาและคนไทยภาคเหนือจะรู้จักกันดี ข้าวก่ำลืมผัวเป็นสายพันธุ์ที่มาจากข้าวไร่ เหมาะสำหรับนำไปปลูกในพื้นที่นาดอน เพราะเป็นพันธุ์ข้าวทนแล้ง

ข้าวก่ำลืมผัวเป็นที่นิยมปลูกในปัจจุบันเนื่องจากคุณค่าทางโภชนาการทางอาหารที่โดดเด่น ซึ่งมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูงถึง 833.77 มิลลิกรัม / 100กรัม อีกทั้งชื่อที่สะดุดหูและรสชาติเฉพาะตัวที่อร่อยน่าลองน่าค้นหา ทำให้ข้าวก่ำลืมผัวโด่งดังและแพร่หลาย รวมถึงพื้นที่บ้านสุขสมบูรณ์ก็มีการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวชนิดนี้มาปลูกด้วยเช่นกัน

ที่มาของชื่อข้าวเหนียวลืมผัว ทราบว่า นายสมเดช ท้าววัฒนากุล ประธานสภา อบต.คีรีราษฎร์ เป็นผู้ตั้งชื่อ โดยมีแรงบันดาลใจจาก เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับสามีภรรยาชาวม้งคู่หนึ่ง นั่นคือเมื่อสามีชาวม้งได้ออกไปทำธุระนอกบ้าน โดยให้ภรรยาหุงข้าวไว้ แต่ระหว่างที่รอสามีกลับบ้าน ภรรยาได้หยิบข้าวที่สุกแล้วมาปั้นกินเล่น ด้วยความที่ข้าวดังกล่าวมีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย เคี้ยวเพลิน ภรรยาจึงกินข้าวหมดโดยไม่รู้ตัวไม่เหลือเก็บไว้ให้สามี หรือก็คือ อร่อยจนลืมผัว นั่นเอง



ไม่ต้องไปไกลถึงภาคเหนือก็มีให้ลองชิมที่หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ “ข้าวเหนียวลืมผัว” ข้าวเหนียวที่ว่ากันว่าหอม อร่อยจนลืมผัว ชาวบ้านที่หมู่บ้านสุขสมบูรณ์นิยมปลูกข้าวไว้รับประทานเอง ลักษณะการปลูกข้าวที่นี่จะเรียกว่าการปลูกข้าวไร่ แต่ละครอบครัวก็จะเลือกปลูกข้าวสายพันธุ์ตามชอบ โดยมากมักปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวไรซ์เบอรี่ และบางบ้านจะเลือกปลูกข้าวก่ำ รวมไปถึงข้าวเหนียวลืมผัวด้วย จุดที่จะสามารถซื้อข้าวเหนียวลืมผัวได้จะเป็นร้านค้าชื่อร้าน “แม่ดอกไม้” หรือตลาดชุมชนบ้านโคกเมือง ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะเป็นช่วงเวลาหลัก ๆ ที่ชาวบ้านเกี่ยวข้าว ดังนั้นหากอยากลองชิมข้าวใหม่หอมๆ สีในโรงสีเล็ก (โรงสีชุมชน) ข้าวใหม่ที่ได้จะมีความหอมเป็นพิเศษ ควรจะมาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว จะสามารถซื้อขาวสารติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากได้