“ฮีตสิบสอง”

รายละเอียด

  

“ฮีตสิบสอง” คือ ประเพณีคนภาคอีสานปฏิบัติสืบต่อกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งทุกๆ ประเพณีเกี่ยวเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน เช่น เพื่อเป็นสิริมงคลกับครอบครัว ลูกหลาน รักใคร่สามัคคีปรองดองกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่มีเหตุเภทภัยอันตรายใดๆ เกิดขึ้นในชุมชน ให้ขจัดปัดเป่าออกไป เป็นต้น โดยที่ฮีตสิบสองจะอ้างอิงตามปฏิทินจันทรคติไทย ดังนี้ 1. เดือนอ้าย จะมีการทำ “บุญเข้ากรรม” โดยนิมนต์พระสงฆ์มาเข้าปริวาสกรรมหรือเข้ากรรม เพื่อฝึกสำนึกความผิดหรือความบกพร่องของตนและ มุ่งประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ในด้านฆราวาสจำทำพิธีเลี้ยงผีแถนผีต่างๆ (ผีบรรพบุรุษ) โดยชาวบ้านตักบาตรร่วมกันที่ ศาลาประชาคม กลางหมู่บ้านทั้ง 4 หมู่ 2. เดือนยี่ จะมีการทำ “บุญคูณข้าว” หรือ “บุญคูณลาน” โดยนิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์เย็นและฉันภัตตาหารเช้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือกเมื่อพระฉัน อาหารเช้าเสร็จก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าวต่อไป รวมถึงพิธีบวงสรวงองค์พระศิวะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน “ปราสาทเมืองต่ำ” และ งานเดอะมิวสิคัล แสง สี เสียง อันยิ่งใหญ่ตระการตา ตามรอยอารยธรรมขอมโบราณ 3. เดือนสาม จะมีการทำ “บุญข้าวจี่” และ “บุญมาฆบูชา” เริ่มพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเข้าโดยใช้ข้าวเหนียวปั้นหุ้มน้ำอ้อยนำไปย่างไฟหรือจี่พอเกรียมแล้วชุบ ด้วยไข่นำไปย่างไฟจนสุกแล้วใส่ภาชนะเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์พร้อมกับอาหารอื่น ๆ ข้าวจี่ที่เหลือจากพระฉันแล้ว ชาวบ้านจะแบ่งกันรับประทานถือว่าผู้รับประทาน จะเป็นมงคลแก่ตัวเอง 4. เดือนสี่ จะมีการทำ “บุญเผวส” “บุญพระเวส’ หรือ “บุญมหาชาติ” มีการฟังเทศน์มหาชาติ ถือกันว่าต้องฟังให้จบทุกกัณฑ์ในวันเดียวจึงจะได้กุศล งานบุญนี้มีผู้นำของมาถวายพระเรียกว่า “กันฑ์หลอน” 5. เดือนห้า จะมีการทำ “บุญสงกรานต์” โดยมีการแห่พระ แห่ตาปู่ รอบหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านทำการสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ ซึ่งชาวบ้านจะไปเก็บดอกไม้มาบูชาพระ 6. เดือนหก จะมีการทำ “บุญบั้งไฟ” สำหรับบุญบั้งไฟก็เป็นพิธีเพื่อ ขอฝนจากเทวดา (แถน) และ “บุญวิสาขบูชา” จะมีการฟังเทศน์ เวียนเทียน 7. เดือนเจ็ด จะมีการทำ “บุญเบิกบ้าน” เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน และมีกิจกรรมดำนา 8. เดือนแปด จะมีการทำ “บุญเข้าพรรษา” มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ถวายภัตตาหาร แด่พระสงฆ์ ทำต้นเทียนหรือนำขี้ผึ้งมาหล่อเป็นเทียนพรรษา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา 9. เดือนเก้า จะมีการทำ “บุญข้าวประดับดิน” โดยจัดอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ สุราแล้วนำไปวางไว้ใต้ต้นไม้หรือที่ใดที่หนึ่งพร้อมทั้งเชิญวิญญาณบรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลักไปแล้วให้มารับเอาอาหารไป 10. เดือนสิบ จะมีการทำ “บุญข้าวสาก” เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย เช่นเดียวกับทำบุญข้าวประดับดิน 11. เดือนสิบเอ็ด จะมีการทำ “บุญออกพรรษา” ชาวบ้านจะร่วมทำบุญตักบาตร รับศีล ฟังเทศน์ ถวายผ้าจำนำพรรษา และ มีประเพณีลอยกระทง 12. เดือนสิบสอง จะมีการทำ “บุญกฐิน” และ กิจกรรมเกี่ยวข้าว