ประวัติการขึ้นเขาปลายบัดเพื่อหาของป่า

รายละเอียด

  

ในอดีต ชาวบ้านไม่ได้เดินทางขึ้นเขาปลายบัดเป็นเรื่องปกติอย่างเช่นในปัจจุบัน เนื่องจากบนเขามีป่ารก มีสัตว์ป่ามากมาย เช่น งู เสือ ทำให้ชาวบ้านยังกลัวอันตรายต่าง ๆ เหล่านี้ ในเวลาต่อมาเริ่มมีผู้ขึ้นไปจำศีล ภาวนาบนเขา และนอกจากนี้ยังมีคุณตาคนหนึ่งชื่อตาชั้นซึ่งเป็นคนวิกลจริตสาเหตุจากสงครามที่ท่านได้ไปออกรบและเกิดความผิดปกติทางจิตได้กลับมาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้าน บางวันคุณตาชั้นได้มีการนำหินมาเรียงต่อกันเป็นทางเดินขึ้นเขา คนรุ่นใหม่มาเข้าใจว่าคนโบราณทำไว้ให้เพื่อเดินขึ้นเขา ดังนั้นต่อมาชาวบ้านจึงใช้เส้นทางนี้เดินขึ้นเขา เพื่อเข้าป่า ตัดไม้ทำฟืน เก็บดอกกระเจียว ดอกดิน บนเขามีน้ำซับที่เรียกว่าซับม่วง จึงมีความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ามาก ชาวบ้านได้ไม้ป่าที่กินได้ก็นำมาประกอบอาหาร ได้แก่อ่อมเนื้อ อ่อมปู อ่อมไก่ แล้วก็มาแบ่งกันกินเท่านั้น ซึ่งในสมัยก่อนนั้นชาวบ้านยังไม่รู้จักการค้าการขาย ในภายหลังเมื่อรู้จักการค้าขาย จึงได้เริ่มขึ้นเขาเพื่อเก็บทุกอย่างทั้งเก็บมากินและมาขาย และเริ่มเก็บมาจำนวนมาก พืชบางอย่าง ชาวบ้านไปขุดเอาหัว เหง้า มาขาย เช่น หน่อโจทซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับไม้ไผ่ แต่หน่อเล็กกว่าซึ่งจะขึ้นบนภูเขา หน่อโจทสามารถนำมาจิ้มน้ำพริกกระปิ และประกอบอาหารได้เหมือนหน่อไม้ทุกอย่าง ชาวบ้านบางกลุ่มมีความเชี่ยวชาญในการหาของป่า เนื่องจากไม่มีไร่นา จึงมีอาชีพขายของป่าเป็นหลัก ของป่าที่หาได้ เช่น ผักหวานป่า กระเจียว ดอกดิน ซึ่งจะมีความรู้ว่าช่วงเดือนไหน ดอกอะไรให้ผลผลิต ซึ่งปกติบนภูเขามีทั้งดินและหิน ส่วนที่มีดินเยอะหน่อยก็จะมีพืชเยอะ ผู้เชี่ยวชาญหาของป่าก็จะรู้ว่ามีพืชชนิดไหน อยู่ตรงไหน ถึงแม้จะเดินโดยไม่ใช้ไฟฉายก็สามารถรู้แหล่งของพืชป่าเหล่านั้นเป็นอย่างดี ผู้ให้ข้อมูล: ผู้ใหญ่บ้าน นายประสิทธิ์ ลอยประโคน