นกกระเรียนไทย จารึกไว้ผ่านลวดลายผ้ามัดหมี่

รายละเอียด

  

นกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นนกขนาดใหญ่ที่สุด ที่ไม่ใช่นกอพยพ และเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ปัจจุบันนกชนิดนี้ได้สูญหายไปจากธรรมชาติของประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี แต่ด้วยความผูกพันของคนประโคนชัยและนกกระเรียนไทยที่มีมายาวนาน โดยมีหลักฐานสำคัญจากภาพถ่ายในอดีตที่บ้านของก๋งพูน เอี่ยมสิริ หมู่ 5 ต.ประโคนชัย อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นภาพถ่ายของบุคคลในครอบครัวพร้อมนกกระเรียนพันธุ์ไทยตัวหนึ่งที่เลี้ยงไว้ นอกจากนี้ ในงานเทศกาลข้ามหอมมะลิ ปลาจ่อมกุ้ง ชมทุ่งประโคนชัย ของอำเภอประโคนชัย จะพบหุ่นนกกระเรียนไทยถูกประดับอยู่ในงานด้วย จากความสำคัญดังกล่าว รศ.ดร.สมบัติ ประจญศานต์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ได้มีแนวคิดในการออกแบบลวดลายนกกระเรียนลงบนผืนผ้ามัดหมี่ จนเป็นผ้าไหมมัดหมี่ลายนกกระเรียน ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น อันเกิดจากการสะท้อนความผูกพันของคนประโคนชัยกับนกกระเรียนไทย อีกทั้ง นกกระเรียนยังเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่มั่นคง เนื่องจากนกกระเรียนจะมีคู่เพียงตัวเดียว และยังแสดงถึงความสง่างาม และการมีอายุยืนยาวอีกด้วย ดังนั้น ผ้าไหมมัดหมี่ลายนกกระเรียนถือเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรนกกระเรียนไทยในจังหวัดบุรีรัมย์ ให้จารึกและคงอยู่ต่อไปผ่านลวดลายบนผืนผ้านั่นเอง