น้ำฝางมะนาว

รายละเอียด

  

ฝาง ไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย เช่น อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา ศรีลังกา บังคลาเทศ เวียดนาม ทางตอนได้ของประเทศจีน ในประเทศไทยนั้นพบฝางได้ทั่วไปตามป่าดิลแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และเขาหินปูน ทางภาคเหนือ ภาคอีสานและบางส่วนของภาคกลาง ฝางแบ่งเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะของเนื้อไม้ คือ ผางเสนและฝางส้ม เนื้อไม้สีเหลืองส้ม แก่นมีสีแดง ถูกอากาศนานเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เสี้ยนตรง เนื้อแข็งละเอียด แก่นที่มีสีแดงเข้ม รสขมหวาน เรียกว่าฝางเสน อีกชนิด แก่นสีเหลืองอมส้ม รสฝาดขื่น ขม เรียกว่าฝางส้ม เครื่องยาฝางมีกลิ่นอ่อน ฝาดเล็กน้อย ฝางมีสรรพคุณที่น่าสนใจ เช่น แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่ม บำรุงโลหิต แก้ปอดพิการ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ยาฝาดสมาน แก้ท้องร่วง ธาตุพิการ ขับเสมหะ แก้ไอ ขับระดู บำรุงโลหิตสตรี แก่นฝนกับน้ำทาเป็นยาภายนอกแก้โรคผิวหนังบางชนิดได้ ฆ่าเชื้อโรค ขับหนอง น้ำต้มแก่นใช้แต่งสีแดงของน้ำยาอุทัย

น้ำฝางมะนาว เมนูเครื่องดื่มสำหรับรับแขกของชาวบ้านชุมชนบ้านโคกเมือง เป็นสูตรน้ำฝางของฐานการเรียนรู้เชฟชุมชน ปรกติน้ำฝางที่ต้มจากแก่นฝางจะมีรสขมหวาน สีออกส้มแดง ซึ่งเป็นสีของ sappanin ซึ่งเป็นสีที่นิยมนำไปใช้เป็นส่วนผสมหลักของน้ำยาอุทัยทิพย์ การทำน้ำฝางมะนาวของชุมชนนี้จะนำแก่นฝางล้างสะอาด มาต้ำในน้ำเดือด รอจนกว่าน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ตักแก่นฝางออก รอให้น้ำฝางเย็นลง จากนั้นบีบมะนาวใส่ลงไป น้ำฝางจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทันที เสิร์ฟกับน้ำแข็งเย็น ๆ พร้อมดื่มดับกระหาย ในวันอากาศร้อน ๆ ได้เป็นอย่างดี