โมบายตุง

รายละเอียด

ตุง หรือ ธุง มักประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ในงานบุญตามประเพณีของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบ หลายหลายสีสัน มีวัสดุการทำที่แตกต่างกัน ซึ่งตุงแต่ละแบบจะมีการสื่อความหมายเกี่ยวพันถึงมนุษย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรื่องเล่าของตุงมีอยู่ว่า ในอดีตพวกเหล่าปีศาจขึ้นไปก่อกวนเทวดาบนสวรรค์ เกิดความวุ่นวายและความหวาดผวาของเหล่าเทวดาเป็นอย่างมา เจ้าแห่งสวรรค์จึงสร้าง “ตุง” ขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เหล่าปีศาจเข้ามารบกวนได้ ตุง จึงเสมือนเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ ปกป้องแดนสวรรค์นั่นเอง มนุษย์เองก็มีการประดิษฐ์ตุงขึ้นในเวลาต่อมา เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อโลกสวรรค์กับโลกมนุษย์ หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ล่วงลับ ใช้ตุงเป็นพุทธบูชา หรือใช้เป็นปัจจัยในการสร้างกุศลให้กับตนเองเพื่อให้ได้เกิดในสวรรค์ภูมิ
	มีการใช้ “ตุง” เป็นเครื่องสักการะ ใช้ในงานบุญหรือขบวนแห่ต่าง ๆ หรือเป็นเครื่องประดับประดาในงานพิธี เพื่อความสวยงาม สร้างสีสัน ภายใต้กรอบความเชื่อที่แตกต่างกันของการประกอบพิธีกรรมในแต่ละท้องถิ่น โดยทั่วไปตุงจะมีลักษณะคล้ายธงความยาวประมาณ 1-3 เมตร อาจทอด้วยผ้าฝ้ายเป็นลายขิด ลวดลายสัตว์ คน ต้นไม้ หรือพระพุทธรูปถวายให้กับพระสงฆ์เพื่อเป็นพุทธบูชา
	ตุงมีหลายรูปแบบ อาทิ ตุงราว ตุงเชย ตุงสิบสองราศี ตุงเจดีย์ทราย ตุงไส้หมู หรือกระทั่งตุงใยแมงมุม
ตุงใยแมงมุม ป็นตุงที่ทำจากเส้นด้ายจากเส้นฝ้ายหรือเส้นไหม ผูกโยงกันคล้ายใยแมงมุม นิยมใช้แขวนตกแต่งไว้หน้าพระประธาน หรือโดยรอบในงานพิธีกรรม ใช้ในการปกป้องคุ้มครองคล้ายกับตุงไชย เป็นที่แพร่หลายในภาคอีสาน การประดับธุงใยแมงมุมของวัดไชยศรี งานบุญเผวสบ้านสาวะถี และประดับในงานร่วมสมัย ชุมชนบ้านโคกเมืองมีการประดิษฐ์ตุงเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึก โดยฐานการเรียนรู้การทอเสื่อกก มีการจัดทำเป็นตุงโมบาย หลากหลายสีสัน สวยงาม สามารถจับจ่ายและซื้อติดไม้ติดมือไปเป็นของฝากจากชุมชนได้