ประเพณี สำคัญของชุมชนบ้านโคกเมือง

รายละเอียด

  

ประเพณีสำคัญของชุมชนบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันถึง 4 กลุ่มชน จึงเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมมากแห่งหนึ่ง และความหลากหลายนี้ก็มีความผสมกลมกลืนกัน แต่มีประเพณีบางอย่างที่มีลักษณะตามความเชื่อของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์แต่ประเพณีหลักของชาวบุรีรัมย์ก็เช่นเดียวกับชาวอีสานทั่วไปคือยึดมั่นใน “ฮีตสิบสอง” คือ ประเพณีคนภาคอีสานปฏิบัติสืบต่อกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งทุกๆ ประเพณีเกี่ยวเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน เช่น เพื่อเป็นสิริมงคลกับครอบครัว ลูกหลาน รักใคร่สามัคคีปรองดองกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่มีเหตุเภทภัยอันตรายใดๆ เกิดขึ้นในชุมชน ให้ขจัดปัดเป่าออกไป เป็นต้น ปฏิทินจันทรคติไทย ที่เป็นปฏิทินที่นับตามคติการโคจรของดวงจันทร์ โดยหมายดูจากปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรม การนับช่วงเวลาแบบจันทรคติ เป็นการนับช่วงเวลาโดยยึดการโคจรของดวงจันทร์รอบโลก ซึ่งเมื่อดวงจันทร์รอบโลกทำให้เกิดปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรม โดยวันทางจันทรคติจึงเรียกว่า วันขึ้น วันแรม โดยดูจากลักษณะของดวงจันทร์ ดังนี้ “ข้างขึ้น” คือ ช่วงเวลาตั้งแต่หลังจากดวงจันทร์มืดสนิท และค่อย ๆ มองเห็นดวงจันทร์สว่างขึ้น จนกระทั่งมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ซึ่งกินเวลาทั้งหมด 15 วัน โดยนับตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ “ข้างแรม” คือ ช่วงเวลาตั้งแต่หลังจากดวงจันทร์เต็มดวง และค่อย ๆ มองเห็นดวงจันทร์มืดลง จนกระทั่งมองเห็นดวงจันทร์มืดจนหมดดวง ซึ่งกินเวลาทั้งหมด 15 วัน โดยนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ไปจนถึงวันแรม 15 ค่ำ การนับเดือนตามจันทรคติ จะเรียกชื่อเดือนแบบง่าย ๆ ดังนี้ เดือนอ้าย (เดือนหนึ่ง) เดือนยี่ (เดือนสอง) เดือนสาม เดือนสี่ เรื่อยไป จนถึงเดือนสิบสอง การนับช่วงเวลาแบบจันทรคตินั้น ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีใช้กันอยู่ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันจัดงานบุญประเพณีของท้องถิ่น ซึ่งต้องดูในปฏิทินสุริยะคติที่ทางการประกาศว่าจะตรงกับ วันที่ และ เดือนใด ของปี พ.ศ. นั้น ๆ โดยที่ฮีตสิบสองจะอ้างอิงตามปฏิทินจันทรคติไทย ดังนี้ เดือนอ้าย จะมีการทำ “บุญเข้ากรรม” โดยนิมนต์พระสงฆ์มาเข้าปริวาสกรรมหรือเข้ากรรม เพื่อฝึกสำนึกความผิดหรือความบกพร่องของตนและ มุ่งประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ในด้านฆราวาสจำทำพิธีเลี้ยงผีแถนผีต่างๆ (ผีบรรพบุรุษ) โดยชาวบ้านตักบาตรร่วมกันที่ ศาลาประชาคม กลางหมู่บ้านทั้ง 4 หมู่ เดือนยี่ จะมีการทำ “บุญคูณข้าว” หรือ “บุญคูณลาน” โดยนิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์เย็นและฉันภัตตาหารเช้าเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวเปลือกเมื่อพระฉัน อาหารเช้าเสร็จก็ทำพิธีสู่ขวัญข้าวต่อไป รวมถึงพิธีบวงสรวงองค์พระศิวะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใน “ปราสาทเมืองต่ำ” และ งานเดอะมิวสิคัล แสง สี เสียง อันยิ่งใหญ่ตระการตา ตามรอยอารยธรรมขอมโบราณ เดือนสาม จะมีการทำ “บุญข้าวจี่” และ “บุญมาฆบูชา” เริ่มพิธีทำบุญข้าวจี่ในตอนเข้าโดยใช้ข้าวเหนียวปั้นหุ้มน้ำอ้อยนำไปย่างไฟหรือจี่พอเกรียมแล้วชุบ ด้วยไข่นำไปย่างไฟจนสุกแล้วใส่ภาชนะเพื่อนำไปถวายพระสงฆ์พร้อมกับอาหารอื่น ๆ ข้าวจี่ที่เหลือจากพระฉันแล้ว ชาวบ้านจะแบ่งกันรับประทานถือว่าผู้รับประทาน จะเป็นมงคลแก่ตัวเอง เดือนสี่ จะมีการทำ “บุญเผวส” “บุญพระเวส’ หรือ “บุญมหาชาติ” มีการฟังเทศน์มหาชาติ ถือกันว่าต้องฟังให้จบทุกกัณฑ์ในวันเดียวจึงจะได้กุศล งานบุญนี้มีผู้นำของมาถวายพระเรียกว่า “กันฑ์หลอน” เดือนห้า จะมีการทำ “บุญสงกรานต์” โดยมีการแห่พระ แห่ตาปู่ รอบหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านทำการสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ ซึ่งชาวบ้านจะไปเก็บดอกไม้มาบูชาพระ เดือนหก จะมีการทำ “บุญบั้งไฟ” สำหรับบุญบั้งไฟก็เป็นพิธีเพื่อ ขอฝนจากเทวดา (แถน) และ “บุญวิสาขบูชา” จะมีการฟังเทศน์ เวียนเทียน เดือนเจ็ด จะมีการทำ “บุญเบิกบ้าน” เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน และมีกิจกรรมดำนา เดือนแปด จะมีการทำ “บุญเข้าพรรษา” มีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ถวายภัตตาหาร แด่พระสงฆ์ ทำต้นเทียนหรือนำขี้ผึ้งมาหล่อเป็นเทียนพรรษา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เดือนเก้า จะมีการทำ “บุญข้าวประดับดิน” โดยจัดอาหารคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ สุราแล้วนำไปวางไว้ใต้ต้นไม้หรือที่ใดที่หนึ่งพร้อมทั้งเชิญวิญญาณบรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลักไปแล้วให้มารับเอาอาหารไป เดือนสิบ จะมีการทำ “บุญข้าวสาก” เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย เช่นเดียวกับทำบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบเอ็ด จะมีการทำ “บุญออกพรรษา” ชาวบ้านจะร่วมทำบุญตักบาตร รับศีล ฟังเทศน์ ถวายผ้าจำนำพรรษา และ มีประเพณีลอยกระทง เดือนสิบสอง จะมีการทำ “บุญกฐิน” และ กิจกรรมเกี่ยวข้าว ทั้งสิบสองเดือนนี้ ถือเป็นประเพณีหลักของชาวอีสานทั่วไปที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และประเพณีเหล่านี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพรียงร่วมแรงร่วมใจ กันของชาวบ้านประเพณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของสังคมอีสานที่เต็ม ไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเสียสละ แรงกายแรงใจเพื่อการกุศล ความสมานสามัคคี ตลอดจนความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่หล่อหลอมบุคลิกภาพของชาวอีสานที่สำคัญยิ่งอย่างยิ่ง นอกจากประเพณีหลัก 12 เดือนแล้ว ยังมีประเพณีเฉพาะกลุ่มชนที่ปฏิบัติตามความเชื่อที่มีความแตกต่างกันไป ประเพณีสำคัญที่ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยสามารถแบ่งจุดมุ่งหมายของฮีตได้ชัดเจน คือบุญเกี่ยวกับพระสงฆ์โดยตรง บุญลักษณะนี้มี 6 บุญ คือ บุญเข้ากรรม บุญข้าวจี่ บุญเผวส บุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษา และ บุญกฐิน ต่อมา บุญเกี่ยวกับการทำมาหากิน เกี่ยวกับการขอพรหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เช่น ฟ้าฝน ข้าวปลาอาหาร มีบุญคูณลานและบุญบั้งไฟ ต่อมาบุญเกี่ยวกับขวัญกำลังใจการดำรงอาชีพ เกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะอำนวยความสุข สวัสดีภาพ คือ บุญสงกรานต์และบุญซำฮะ สุดท้ายบุญเกี่ยวกับความกตัญญู ซึ่งจะเน้นเกี่ยวกับการทำบุญอุทิศเป็นสำคัญ คือ บุญข้าวประดับดินและบุญข้าวสาก ที่ตั้ง : ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากจังหวัดบุรีรัมย์ ประมาณ 60 กิโลเมตร 14.49341199387122, 102.98108871557721 หมายเลขติดต่อสอบถาม : 080 282 8239