ร.ล.ชุมพร (จำลอง)

รายละเอียด

เมื่อพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.๒๔๗๘ ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว กองทัพเรือต้องการต่อเรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดเพิ่มเติม ๔ ลำ ในโครงการเฟส ๒ ได้มีการเรียกประกวดราคาเรือและราคาอาวุธต่างๆแยกกันออกไป โดยเลือกใช้ปืนเรือจากสวีเดนและตอร์ปิโดจากเดนมาร์คทดแทนของเดิม ส่งผลให้ราคาต่อเรือหนึ่งลำไม่รวมอาวุธเหลือแค่เพียง ๕๗๑,๓๐๐ บาท ทำให้สามารถจัดหาเพิ่มเติมได้ถึง ๗ ลำในวงเงิน ๓.๙๙๙ ล้านบาท และเมื่อติดตั้งอาวุธครบครันแล้วมีราคาต่อลำแค่เพียง ๘ แสนบาทเท่านั้น พอรวมกับเรือเดิมอีก ๒ ลำแล้ว จึงเท่ากับมีเรือชั้นเดียวกันถึง ๙ ลำ กองทัพเรือสามารถจัดกำลังรบเป็นหมู่ละ ๓ ลำได้ถึง ๓ หมู่ 
เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดเฟส ๒ เข้าประจำการพร้อมกันทุกลำวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๔๘๑ เรือมีระวางขับน้ำลดลงมาประมาณ ๑๐ ตันคือ ๔๖๐ ตัน ความเร็วลดลงมาประมาณ ๑.๕ นอตคือ ๓๐.๕ นอต มีการปรับปรุงในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งสามารถบรรทุกน้ำมันได้มากขึ้นกว่าเดิม จึงมีระยะทำการไกลสุดเพิ่มขึ้นเกือบ ๒ เท่า 
เรือหลวงชุมพร เดิมใช้หมายเลขเรือ ๓๑ ข้างเรือมีข้อความ ชพ. ภายหลังได้ลบออก ได้รับใช้ราชการนาน ๓๗ ปี ปลดระวางประจำการเมื่อ ๒๖ พ.ย. ๒๕๑๘ หลังปลดระวางแล้ว จังหวัดชุมพรได้ขอเรือไปประดิษฐาน ณ บริเวณศาลพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่หาดทรายรี ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 
เรือหลวงชุมพรมิได้มีความเกี่ยวข้อง กับกรมหลวงชุมพรฯ แต่อย่างใด เป็นเพียงพระนามพ้องกับชื่อเรือและชื่อของจังหวัด เท่านั้น ส่วนเรือที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรมหลวงชุมพรคือ เรือหลวงพระร่วง เป็นเรือที่พระองค์ไปซื้อ และนำเรือกลับมายังประเทศไทยด้วยพระองค์เอง

ขนาด

ก.๓๑  ย.๑๒๓.๕