หุ่นละครเล็ก คณะศิปปะธรรม

หุ่นละครเล็ก หมายถึง การแสดงศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยชนิดหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ความงดงามอยู่ที่ลีลาความเคลื่อนไหวของหุ่นเสมือนหนึ่งมีชีวิต ซึ่งอาศัยผู้เชิดที่มีพื้นฐาน โขนละคร 3 คน การแสดงหุ่นละครเล็กเป็นการผสมผสานศิลปะมรดกวัฒนธรรมหลายแขนง เช่น หัตถศิลป์ ประณีตศิลป์ คีตศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ มัณฑนศิลป์ และวรรณศิลป์ เข้าไว้ด้วยกัน

หุ่นละครเล็กคณะศิปปะธรรม เดิมผู้คนรู้จักในนาม “หุ่นละครเล็ก สิปปะธรรม คำนาย” ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2553 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักแสดงหุ่นละครเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการปิดตัวลงของโรงละครนาฏยศาลา “หุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) โดยการรวมกลุ่มของนักแสดงหุ่นละครเล็กนี้ เป็นการรวมกลุ่มของนักแสดงที่มีความผูกพันและความชื่นชอบในการการแสดงหุ่นละครเล็ก ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์และสืบสานการเเสดงหุ่นละครเล็กให้มีอยู่สืบไป ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หุ่นละครเล็กคณะศิปปะธรรม” มีผู้ดูแลการเเสดงคือ คุณจตุฏรัษภิชญ์ พรพระครูชัยนาท หรือที่เด็ก ๆ รู้จักในนาม “ครูจิ๋ว” โดยจัดเเสดงวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 11.30 - 12.30 น. ณ ตลาดน้ำวัดสะพาน ราชพฤกษ์ ซอยปากน้ำกระโจมทอง แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170 สามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

การเชิดหุ่นละครเล็กคณะศิปปะธรรมใช้ผู้เชิดจำนวน 3 คน โดยผู้เชิดทั้ง 3 คนต้องรวมใจกันให้เป็นหนึ่งเดียว หรือทำให้เป็นคน ๆ เดียวกันในการถ่ายทอดลักษณะท่าทาง อารมณ์ไปยังตัวหุ่นละครเล็ก เพื่อให้การเเสดงหุ่นละครเล็กเคลื่อนไหวคล้ายกับสิ่งมีชีวิต ซึ่งดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของบรรพบุรุษที่ได้สั่งสมจนเกิดเป็นการแสดงหุ่นละครเล็กที่งดงามและทรงคุณค่าในวัฒนธรรมไทยอันเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก

การเชิดหุ่นละครเล็กคณะศิปปะธรรมมีเอกลักษณ์คือ ผู้เชิดหุ่นทั้ง 3 คน ใส่หน้ากาก ชุด ถุงมือ และถุงเท้าสีดำ เพื่อให้ตัวหุ่นมีความโดดเด่นและดึงดูดความสนใจของผู้ชมให้อยู่กับการเคลื่อนไหวของตัวหุ่น ทั้งนี้ผู้เชิด 3 คนมีหน้าที่แตกต่างกันในการเชิดหุ่น อีกทั้งยังมีการประยุกต์ ตัดตอน เพิ่มบทในเรื่องราวต่างๆกับงานจัดแสดง โดยเรื่องราวส่วนใหญ่ที่คณะศิปปะธรรมเล่น คือ เรื่องรามเกียรติ์  ซึ่งจะมีลำดับการแสดงดังนี้ 1.)ไหว้ครู 2.)แนะนำวิธีการเชิดหุ่น โดยมีผู้เชิดทั้งหมด3คน การแสดงมีการใช้อวจนภาษา และมีการสอดแทรกความรู้ แปลความหมายของการแสดงให้คนทั่วไปได้รู้จักและเข้าใจ ด้านเสียงมีการบันทึกเสียงทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไว้ล่วงหน้าแล้ว 3.)เริ่มทำการแสดง โดยในระหว่างทำการแสดงมีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน และการมีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังมีการสอนให้กับเด็กและเยาวชนที่มีความสนใจ เพื่อต้องการให้ศิลปะแขนงนี้มีความเปิดกว้าง ให้เข้าถึงกับชุมชน และ เยาวชนอย่างแท้จริง เพราะตัวเยาวชนเองต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนในรุ่นต่อไป

สถานที่จัดเก็บต้นฉบับ