เส้นทางท่องเที่ยว ::ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม


1. วัดทุ่งม่านใต้-บ่อหิน

ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

ตำบลบ้านเป้า มีวัดทางพระพุทธศาสนาอยู่หลายแห่ง แห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงคือ วัดทุ่งม่านใต้-บ่อหิน โดยวัดมีชื่อเสียงโด่งดังจากพระครูบานันตา หรือ “ครูบาเจ้า นันตา นันโท”เป็นพระเถราจารย์ยุคเก่าแห่งดินแดนภาคเหนือร่วมยุคสมัยกับครูบาเจ้า ศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ซึ่งคนล้านนาให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างมาก ครูบาเจ้า นันตา ท่านเป็นตำนานผู้สร้างเครื่องรางของขลังที่เรียกกันว่า “พระราหูแกะกะลาตาเดียว” คนโบราณ มีความเชื่อว่า เป็นวัตถุที่มีอำนาจอาถรรพ์ นำโชค ป้องภัย ป้องกันเสนียดจัญไร และคุณไสยต่างๆ ได้ จากชื่อเสียง ความขลัง และความศรัทธาของผู้คนจึงทำให้เครื่องรางเป็นที่ปรารถนาของนักสะสมเครื่องรางล้านนาอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุนี้จึงมีนักท่องเที่ยวและนักสะสมผู้คลั่งไคล้ในเครื่องรางของขลังได้แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนที่วัดอยู่บ่อยครั้ง นอกจากมาเที่ยวชมวัด ระหว่างการเดินทางท่านจะได้เห็นความเป็นอยู่ วิถีชีวิต บ้านเรือน และสภาพแวดล้อมแบบชาวล้านนา หลายพื้นที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีเก่าแก่ที่เริ่มเลือนหายไปตามยุคสมัยของการพัฒนา

2. วัดทุ่งม่านเหนือ

ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

วัดทุ่งม่านเหนือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาที่สำคัญประจำหมู่บ้านทุ่งม่านเหนือ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2277 โดยชาวพม่า มีอายุ 200 กว่าปี ภายในวัดมีพระประธานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นปางปราบมารวิชัย ปูชนียวัตถุมีพระวิหารปูนปั้น พระพุทธรูปทองสำริด และโบราณวัตถุที่เก่าแก่ อีกทั้งยังมีผลงานหัตถศิลป์ที่โดดเด่น คือ “ตุงค่าวธรรมหรือภาพพระบฏ” ซึ่งเป็นสื่อธรรมะที่ใช้ประกอบการเทศนาเรื่อง พระเวสสันดร โดยมีภาพเล่าถึงเรื่องราวของพระเวสสันดร 13 กัณฑ์ ในอดีตทุกวัดในล้านนา เมื่อมีพิธีกรรมเทศน์มหาชาติ (ประเพณีการตั้งธรรมหลวง) มักแขวนตุงค่าวธรรมไว้รายรอบวิหาร ตุงค่าวธรรมเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะวิถีชิวิตความเป็นอยู่ เครื่องใช้ไม้สอย ทั้งความงดงามด้านศิลปกรรม เทคนิควิธีกรรม การสื่อถึงคติความเชื่อและความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้เป็นอย่างดี กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ. 2562 และนำมาบูรณะปฎิสังขรในปี พ.ศ. 2563 หลังจากนั้นจึงมอบให้ทางวัดทุ่งม่านเหนือเป็นผู้เก็บรักษาผลงานทางพุทธศิลป์นี้ไว้เป็นอย่างดี

3. บ้านสวนลุงนวล เกษตรอินทรีย์

ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

บ้านทุ่งม่านเหนือมีโครงการวิสาหกิจชุมชนเกษตรกร เพื่อสร้างรายได้ต่ออาชีพเกษตรกร โดยโครงการมีการส่งเสริมให้แปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชผักที่ปลูก เช่น น้ำพริกลาบ น้ำพริกข่า น้ำพริกตาแดง น้ำพริกนรกหมู เป็นต้น นอกเหนือจากนั้นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยังมีการทำเกษตรอินทรีย์ โดยในปี 2563 ได้ลงทะเบียนเป็นเกษตรอินทรีย์กับมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย หรือที่เรียกว่า PGS ซึ่งเป็นการปลูกผักและผลไม้ปลอดสารพิษ ทั้งยังมีการผลิตปุ๋ยคอก ปุ๋ยจุลินทรีย์ขึ้นมาใช้เอง ทำให้ลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร และช่วยรักษาสภาพดิน ปรับสภาพดิน และบำรุงดินไปในตัวด้วย ปัจจุบันทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปและพืชผักผลไม้สดได้วางจัดจำหน่ายที่ตลาดเกษตรกรลำปาง ออกบูธตามงานต่างๆ และทางออนไลน์ในเพจเฟซบุ๊ก TMN.Farmer’s Group พูดได้เลยว่าการทำเกษตรอินทรีย์ของบ้านทุ่งม่านเหนือปลอดภัยทั้งกับผู้บริโภค ตัวเกษตรกรเอง และสิ่งแวดล้อม และยังสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรบ้านทุ่งม่านเหนืออีกด้วย

4. ข้าวแต๋นน้ำแตงโม

ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

ชาวบ้านทุ่งม่านเหนือรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อผลิตสินค้าชุมชน "ข้าวแต๋นน้ำแตงโม" ภายหลังกลายเป็นสินค้าเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) สร้างชื่อให้แก่จังหวัดลำปาง กลุ่มข้าวแต๋นน้ำแตงโม เป็นการรวมกลุ่มทำข้าวแต๋นน้ำแตงโม โดยมีกลุ่มของหมู่บ้าน จำนวน 1 กลุ่ม และมีกลุ่มย่อยในหมู่บ้านอีกประมาณ 20 กลุ่ม ซึ่งนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาเป็นรูปแบบทันสมัย คือ สมัยก่อนชาวบ้านจะนำข้าวที่เหลือจากการกินมาตากแห้งเพื่อเก็บไว้กินในวันต่อไป ปัจจุบันนำมาแต่งหน้าด้วยน้ำตาลอ้อยและโรยงา หรือทำเป็นหน้าธัญญาพืช หน้าหมูหยอง ฯลฯ เป็นกลุ่มอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่หมู่บ้านไม่ต่ำกว่าเดือนละ 500,000 บาท

5. พระธาตุม่อนกันวีศรีภาวนาสถาน

ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

พระธาตุม่อนกันวี ประดิษฐานอยู่บนเชิงเขา ในเขตบ้านทุ่งม่านเหนือ เชิงเขามีลักษณะคล้ายด้ามของพัด โดยทิศเหนือมีลักษณะคล้ายใบของพัด ทิศใต้มีลักษณะคล้ายด้ามของพัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ม่อนกันวี” เมื่อปี 2462 โดยการนำของครูบานันตา นันโท แห่งวัดทุ่งม่านใต้ ได้อาราธนานิมนต์ตนบุญแห่งล้านนา คือ ครูบาศีลธรรมหรือครูบาศรีวิชัย มาบรรจุพระธาตุม่อนกันวี ต่อมาในปี 2531 เดือนกุมภาพันธ์ ชาวบ้านทุ่งม่านเหนือ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุครั้งใหญ่ หลังจากที่เกิดเหตุการณ์องค์พระธาตุได้พังทลายลง เนื่องจากการวางรากฐานไม่มั่นคงแข็งแรง และในปี 2534 วันที่ 21 กรกฎาคม ได้ทำการฉลองยกฉัตรพระธาตุม่อนกันวี โดยพันโทจักรี ตันติพงศ์เป็นประธานในพิธี ในวันธรรมดาทั่วไปสามารถนำดอกไม้ธูปเทียนสักการะพระธาตุกันวีได้ และในเดือนกรกฎาคมของทุกปี จะมีประเพณีสักการะปู่เสี้ยวบ้านของชุมชน พระธาตุม่อนกันวีนับว่าเป็นที่นับถือสักการะบูชาของชาวบ้านทุ่งม่านเหนือมาช้านาน หากมีโอกาสได้มาท่องเที่ยวบ้านทุ่งม่านเหนือ การมาไหว้พระธาตุถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่พิเศษอีกกิจกรรมเลย