แผ่นดินอิฐประทับรูปรอยเท้าคน

รายละเอียด

แผ่นอิฐมีรอยประทับรูปฝ่าเท้าของคน สมัยทวารวดี จัดแสดง ณ อาคารจัดแสดง ๒ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

แผ่นอิฐทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้ออิฐมีรูพรุน เห็นร่องรอยแกลบข้าวในเนื้ออิฐอย่างชัดเจน บนผิวหน้าอิฐมีรอยประทับรูปฝ่าเท้าด้านขวา ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเกิดขึ้นจากความบังเอิญในระหว่างขั้นตอนการผลิตอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ หรือประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้วอิฐสมัยทวารวดีที่ใช้ในการก่อสร้าง ส่วนมากเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า อิฐที่พบจากโบราณสถานแต่ละแหล่งอาจมีขนาดไม่เท่ากัน แต่ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยมีลักษณะร่วมกันคือมีขนาดใหญ่กว่าอิฐในสมัยอื่นๆ เนื้ออิฐมีรูพรุนเนื่องจากมีการการผสมแกลบข้าวลงไปในส่วนผสม สันนิษฐานว่าเพื่อช่วยในการถ่ายเทอากาศขณะเผา และช่วยไม่ให้อิฐแตกง่าย เมื่อเผาอิฐแล้วแกลบข้าวเหล่านี้ก็จะถูกเผาสลายไปกลายเป็นรูพรุนในเนื้ออิฐ อิฐบางก้อนเผาไม่สุกทั่วทั้งก้อน โดยเนื้ออิฐภายนอกที่สุกจะมีสีส้ม แต่เนื้ออิฐภายในที่ไม่สุกจะมีสีดำ อิฐเหล่านี้ผลิตขึ้นอย่างไม่ประณีตนัก เนื่องจากต้องผลิตครั้งละจำนวนมากเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และมักมีการฉาบปูนหรือตกแต่งด้วยปูนปั้นทับอิฐเหล่านั้น อิฐที่ใช้ในงานก่อสร้างสถาปัตยกรรมโดยทั่วไปจะไม่ได้รับการขัดฝนผิวให้เรียบ ต่างจากอิฐพิเศษที่ใช้ในพิธีกรรมอย่างอิฐฤกษ์ที่จะมีการขัดฝนผิวให้เรียบและตกแต่งลวดลายบนผิวหน้าอิฐ อิฐที่ใช้ในการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม นอกจากอิฐรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ใช้ในการก่อเป็นโครงสร้างทรงสี่เหลี่ยมทั่วไปแล้ว ยังพบอิฐที่มีลักษณะเป็นวงโค้งคล้ายอิฐหน้าวัวที่อาจเป็นโครงสร้างของส่วนที่มีความโค้ง เช่น ฐานเจดีย์ทรงกลม หรืออิฐที่มีรอยบากหรือรอยถากเพื่อประกอบเป็นส่วนต่างๆ ของสถาปัตยกรรม เช่น ฐานบัว อิฐจำหลักลายสำหรับประดับส่วนฐานหรือส่วนต่างๆ ของสถาปัตยกรรม อิฐมีลายลูบรอยนิ้วมือ เป็นต้น รอยประทับรูปฝ่าเท้ามนุษย์ แม้จะเกิดด้วยความบังเอิญในระหว่างขั้นตอนการผลิตก็ตาม แต่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงตัวตนและผู้คนสมัยทวารวดี ซึ่งผู้ประทับรอยเท้าบนที่ปรากฏบนอิฐก้อนนี้ อาจจะเป็นช่าง ผู้เป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมในสมัยทวารวดีที่เมืองโบราณอู่ทอง ก็เป็นได้