ประติมากรรมดินเผารูปสิงห์

รายละเอียด

  

ประติมากรรมประดับฝาภาชนะสมัยทวารวดี ประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ ขนาดกว้าง ๘ เซนติเมตร สูง ๘.๓ เซนติเมตร สิงห์มีใบหน้ากลม มีคิ้วเป็นสันนูนต่อกันคล้ายปีกกา ดวงตากลมโต จมูกใหญ่ อ้าปากแยกเขี้ยวยิงฟัน มีแผงคอเป็นเม็ดกลมเรียงกันเป็นรูปสามเหลี่ยม อยู่ในท่านอนหมอบเอี้ยวตัว สองเท้าหน้ายื่นออกมาวางชิดกัน สองเท้าหลังวางพาดมาด้านหน้าลำตัวโดยขาซ้ายทับขาขวา ด้านหลังมีแนวสันหลังยกเป็นสันต่อด้วยหางยาวม้วนมาด้านหน้าสอดอยู่ใต้ขาหลัง มีการเจาะรูกลมสองรูบริเวณต้นขาหน้าด้านซ้าย และด้านหลังต้นขาหน้าด้านขวา รูทะลุถึงกัน อาจไว้ใช้สำหรับร้อยเชือก ด้านล่างของประติมากรรมเป็นฐานกลม โค้งมนรองรับประติมากรรม ด้านในฐานกลวง สันนิษฐานว่าอาจเป็นส่วนฝาของภาชนะ ดังนั้นประติมากรรมรูปสิงห์ชิ้นนี้จึงอาจเป็นประติมากรรมประดับบนฝาภาชนะหรือเป็นส่วนจุกของฝาภาชนะดินเผาก็เป็นได้ กำหนดอายุสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ฝาภาชนะดินเผาสมัยทวารวดี พบทั้งฝาขนาดเล็กที่ขึ้นรูปด้วยมืออย่างหยาบ ๆ และฝาที่ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ผลิตด้วยฝีมือประณีตและมีการตกแต่งอย่างงดงาม พบทั้งฝาที่มียอดเป็นปุ่มมนหรือแหลม และฝาที่มีประติมากรรมรูปสัตว์ประดับ นอกจากประติมากรรมรูปสิงห์ชิ้นนี้แล้ว ยังพบฝาภาชนะดินเผาที่มีรูปสิงห์ประดับที่เมืองโบราณซับจำปา จังหวัดลพบุรี จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี อีกด้วย ประติมากรรมดินเผารูปสิงห์ชิ้นนี้ ผลิตขึ้นด้วยฝีมือประณีตและแสดงถึงอารมณ์ที่ปรากฏบนใบหน้าอย่างชัดเจน สิงห์ถือเป็นสัตว์มงคลที่พบมากในงานศิลปกรรมสมัยทวารวดี ซึ่งพบทั้งบนตราดินเผา ประติมากรรมดินเผา และประติมากรรมปูนปั้นประดับศาสนสถาน จึงสันนิษฐานได้ว่า ประติมากรรมชิ้นนี้น่าจะเป็นประติมากรรมประดับฝาของภาชนะที่มีความสำคัญ อาจใช้สำหรับบรรจุของที่ใช้ในพิธีกรรม ที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ หรืออาจเป็นเครื่องใช้ของบุคคลชั้นสูง ก็เป็นได้

ที่จัดแสดง : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง