ปูนปั้นรูปนาค

รายละเอียด

ประติมากรรมรูปนาคซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุด ที่สร้างขึ้นในท้องถิ่น มิได้เป็นการนำเข้ามาจากภายนอก เนื่องจากเป็นประติมากรรมปูนปั้นซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้ประดับติดเข้ากับผนังของศาสนสถาน ได้แก่ ชิ้นส่วนปูนปั้นรูปขนดนาคที่ฐานพระพุทธรูป ศิลปะทวารวดี พบที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ประติมากรรมรูปนาคที่พบในสมัยทวารวดี ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยได้รับแบบอย่างมาจากศิลปะอินเดีย แบบอมราวดี คุปตะ และหลังคุปตะ เข้ามาผสมผสาน มักสร้างขึ้นเพื่อประดับศาสนสถาน ร่วมกับประติมากรรมรูปแบบอื่น ๆ ได้แก่ รูปบุคคล คนแคระ ลายพันธุ์พฤกษา และสัตว์แบกอยู่บริเวณส่วนฐานของเจดีย์ ทั้งนี้มีผู้ศึกษาเรื่องส่วนผสมของปูนปั้นสมัยทวารวดี สันนิษฐานว่า ได้แก่ ปูนขาวกับน้ำอ้อยผสมกับทรายและเนื้อเยื่อจากวัสดุธรรมชาติ รวมทั้งผสมยางไม้ ซึ่งทำให้การยึดเกาะกันของส่วนผสมต่าง ๆ ทนทานยิ่งขึ้น ในเมืองโบราณอู่ทอง พบหลักฐานประติมากรรมรูปนาคปูนปั้นที่เจดีย์ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อประดับส่วนฐาน หรือประดับองค์ประกอบอื่นๆ ของสถาปัตยกรรม กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 หรือประมาณ 1200-1500 ปีมาแล้ว หลักฐานประติมากรรมรูปนาคที่พบจากเมืองโบราณอู่ทอง ส่วนใหญ่ทำจากปูนปั้น และมักเกี่ยวข้องกับการตกแต่งศาสนสถานในศาสนาพุทธ ซึ่งประติมากรรมดังกล่าว น่าจะมีความหมายถึงความเป็นสิริมงคลและเป็นผู้พิทักษ์ดูแลพุทธสถานแห่งนั้น

ที่จัดแสดง : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง