แผ่นดินเผาภาพบุคคลฟ้อนรำ

รายละเอียด

แผ่นดินเผาประติมากรรมนูนต่ำ ทำเป็นรูปบุคคล (บุรุษ) ยืนเอียงสะโพก ขาซ้ายเหยียดตรง ขาขวางอ ปลายเท้าแยกออกทางด้านข้าง แขนขวายกงอขึ้นจีบเป็นวงชิดใบหู และแขนซ้ายเหยียดโค้งพาดกลางลำตัวมือจีบเป็นวงชี้ลงเบื้องล่าง ซึ่งท่าทางดังกล่าวคล้ายกับท่ารำ ที่เรียกว่า “กริหัสตะกะ” (ท่างวงช้าง) หรือ “ลลิตะ” (ท่าเยื้องกราย)ภาพบุคคลดินเผาชิ้นนี้ ประดับตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับหลายชิ้น ศีรษะสวมศิราภรณ์ (เครื่องประดับศีรษะ) เป็นกระบังหน้าที่ประกอบด้วยตาบสามเหลี่ยมคล้ายใบไม้ ๓ ตาบ มีร่องรอยตาบสามเหลี่ยมซ้อนอยู่อีกหนึ่งชั้นด้านหลัง บริเวณต้นแขนทั้งสองข้างสวมพาหุรัดรูปตาบสามเหลี่ยมคล้ายกับที่ศิราภรณ์ นอกจากนี้ยังสวมตุ้มหูและสร้อยคอ ที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องประดับที่พบได้ทั่วไปในประติมากรรมที่พบจากเมืองโบราณสมัยทวารดี นุ่งผ้าโจงกระเบนสั้นเหนือเข่า ที่ด้านหน้ามีชายผ้ารูปหางปลา ๒ ชั้นการประดับตาบสามเหลี่ยมเป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะปาละของอินเดีย (พุทธศตวรรษที่ ๑๔ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ภาพบุคคลฟ้อนรำชิ้นนี้ จึงอาจจะได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรม มาจากศิลปะปาละโดยตรง หรืออาจรับผ่านดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะปาละอีกทอดหนึ่ง ก็เป็นได้อย่างไรก็ตามภาพบุคคลฟ้อนรำชิ้นนี้มีการลดทอนรายละเอียดของตาบรูปสามเหลี่ยมตามแบบศิลปะปาละลงอย่างมาก จนเหลือเพียงลักษณะของการใช้เครื่องมือปลายแหลมกรีดให้เป็นเครื่องประดับรูปสามเหลี่ยมเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าคงสร้างด้วยฝีมือช่างท้องถิ่น เมื่อพิจารณารูปแบบศิราภรณ์รูปตาบสามเหลี่ยมแล้ว ภาพบุคคลชิ้นนี้จึงน่าจะสร้างขึ้นหลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นต้นมาการแสดงออกถึงฝีมือช่างท้องถิ่นทวารวดีในภาพบุคคลชิ้นนี้ ยังปรากฏบนลักษณะใบหน้าที่มีคิ้วต่อเป็นปีกกา ริมฝีปากหนาแบะ ตาโปน และจมูกใหญ่ ยังแสดงให้ถึงรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะทวารวดีอย่างแท้จริงเช่นกัน นอกจากนี้ชายผ้านุ่งที่เป็นรูปหางปลา ๒ ชายซ้อนกันยังชวนให้นึกถึงศิลปะเขมร ซึ่งร่วมสมัยกับทวารวดีตอนปลาย โดยเริ่มเข้ามาบทบาทในศิลปะทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ การกำหนดอายุจากชายผ้านุ่งจึงสอดคล้องกับการกำหนดอายุจากเครื่องประดับศิราภรณ์ข้างต้น ดังนั้นภาพบุคคลชิ้นนี้จึงควรสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๖ (ประมาณ ๑,๐๐๐ – ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว)

ที่จัดแสดง : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง