มันเทียน

รายละเอียด

  

มันเทียน หรือ มันเสา เป็นมันป่า ลำต้นเป็นเถาเลื้อย หัวมันมีลักษณะทรงกลม เรียวยาว สีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาล เนื้อหัวมีสีขาว เมื่อทำสุกจะเป็นแป้งเนื้อละเอียด มีรสหวานเล็กน้อย เหมาะสำหรับทำอาหาร ขนมหวาน หรือทำแป้งทำขนมต่างๆ

คำว่า มันเทียน เรียกตามลักษณะหัวที่มีลักษณะทรงกระบอกตรง เปลือกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาล คล้ายต้นเทียน ส่วนคำว่า มันเสา เรียกตามลักษณะหัวเช่นกัน คือ เป็นทรงกระบอกตั้งตรง แทงลึกลงดิน คล้ายกับเสาไม้

วงศ์ : Dioscoreaceae

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dioscorea filiformis

มันเทียน มันเสา มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย ในประเทศไทยพบได้ในทุกภาค พบแพร่กระจายป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง แต่พบได้น้อยมากเมื่อเทียบกับมันชนิดอื่น และเป็นมันชนิดที่หารับประทานได้ยากมาก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ราก และหัว มันเทียนมีรากพัฒนากลายเป็นหัว ทำหน้าที่เก็บสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน หัวมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก หัวอาจตรงหรือโค้งไปมา หรืออาจแตกแขนงเป็น 2 แง่ง แต่ทั่วไปพบเป็นทรงกระบอก ไม่แตกแง่ง ขนาดหัวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-50 เซนติเมตร ปลายหัวเป็นรากแทงลึกลงดินต่อ และอาจลึกได้ถึง 1 เมตร เปลือกหัวบาง เปลือกหัวอ่อนมีสีขาว เปลือกหัวแก่มีสีน้ำตาล มีรากฝอยกระจายอยู่ทั่วหัว เนื้อหัวด้านในมีสีขาว มียางเมือก ทั้งนี้ หัวจะเริ่มพัฒนา และเก็บสะสมอาหารในช่วงต้นฤดูฝน และจะพร้อมเก็บในช่วงปลายฝนจนถึงฤดูหนาวลำต้นมันเทียนเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย พาดอิงตามพืชชนิดอื่น ยาวประมาณ 2-5 เมตร เถามีลักษณะทรงกลม ขนาดเล็ก สีแดงอมเขียว มีตุ่มเล็กสากมือปกคลุมเถา ไม่มีหนาม แตกกิ่งสาขาน้อย ทั้งนี้ ลำต้นจะเติบโตในช่วงหน้าฝน และจะเริ่มเหี่ยวแห้งในหน้าแล้ง จากนั้น เมื่อเข้าสู่หน้าฝนจะแทงหน่อขึ้นมาอีกครั้ง