ขั้นตอนที่ 1 การตี

การตี เป็นขั้นตอนที่ 1 ผู้ที่ทำหน้าที่คือ ช่างตี เป็นขั้นตอนที่รวมการหลอม แผ่ และตีไว้ด้วยกัน ในปัจจุบันช่างตีจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในการผสมโลหะ โดยต้องผสมโลหะให้ได้เนื้อทองที่เหนียวเหมาะแก่งานบุ ช่างโบราณเมื่อราวรัชกาลที่ 3-4 พอใจใช้ทองเท่า 2 ชนิด คือ "ทองใบไม้" หมายถึง เศษทองสัมฤทธิ์ที่ได้จากการแตกชำรุด และ "กองม้าล่อ" หรือ "ทองฉาบ" หมายถึง ทองจากเครื่องดนตรีสัมฤทธิ์ของจีนที่แตกชำรุด ใช้เป็นส่วนผสมในการหลอมโลหะ ต่อมาทองฉาบหายากขึ้น ช่างจึงผสมโลหะขึ้นใช้เองในอัตราส่วนทองแดง 7 ส่วน ดีบุก 2 ส่วน และเศษสัมฤทธิ์ 1 ส่วน นำมาย่อยลงเบ้าหลอมบนเตาตี เตาตีเป็นเตาแบบโบราณ ทำด้วยอิฐสอดิน สูงราว 1 ศอก กลางเตาทำเป็นหลุมกระทะข้างล่างมีช่องต่อกับท่อลม เดิมใช้สูบลมด้วยมือ ช่างหลอมต้องมีผู้ช่วยสูบ 1 คน ปัจจุบันนี้พัฒนามาใช้พัดลมมอเตอร์เป็นตัวเร่งไฟให้ร้อน โดยใช้ถ่านไม้ซากซึ่งเป็นถ่านไม้คุณภาพดีเป็นเชื้อเพลิง การหลอม ช่างจะวางเบ้าโลหะลงในแอ่งกลางเตา กลบถ่าน แล้วโหมไฟอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งโลหะละลายเป็นน้ำทองเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ขั้นตอนนี้ช่างต้องใช้ความชำนาญสังเกตดูเนื้อโลหะหากน้ำทองยังมีสีขุ่นยังเททองไม่ได้ต้องรอให้น้ำทองได้สีแดงเรื่อ แบบลูกหนู อย่างที่ช่างเรียกว่า กินตา ดีแล้วจึงจะนำลงเทลงบนพิมพ์ดินเผา ศัพท์ช่างเรียกว่า "ดินงัน" มีรูปทรงกลมเนื้อหนา หน้าเป็นหลุมตื้นๆ การเลือกใช้ขึ้นกับขนาดของภาชนะที่ต้องการจะทำ ก่อนเททองช่างจะใช้น้ำมันขี้โล้ ปัจจุบันใช้น้ำมันโซลาเทลงบนผิวดินงันก่อน เพื่อให้น้ำทองแล่น ไม่ฝืด เมื่อเททองแล้วใช้พัดกระพือลมให้ทองเบ่ง ทิ้งให้ทองเย็นลงช้าๆจะได้เป็นทองก้อน มีขนาดความกว้างและหนาเท่ากับหน้าของดินงัน การทิ้งให้ทองก้อนเย็นลงอย่างช้าๆ ทำให้ทองมีความอ่อน เหมาะแก่การตี จากนั้นนำทองก้อนมาเผาไฟให้แล้วตีแผ่บนทั่งเหล็ก ช่างนำมาวางไว้ในทั่งหนุนฐานให้สูงอยู่ในระดับเดียวกัน เติ่ง คือ ก้อนหินธรรมชาติ จะช่วยบังคับรูปทองทีตีแผ่ออกให้อยู่ในมุมที่ช่างต้องการ เวลาตีช่างจะใช้คีมคีบแผ่นทองไว้ให้แน่น ใช้ค้อนตีรีดไล่กันไปโดยขยับเลื่อนไปที่ละน้อย จนกระทั่งทองเกือบจะเย็นลง ก็นำไปเผาไฟใหม่ตีแผ่ออกไปเรื่อยๆ จนได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ต้องการแล้วตีตะแคงขึ้นขอบจากก้นขึ้นไปหาปากภาชนะให้ได้รูปวาดคร่าวๆ แล้วตีแต่งรูปภาชนะอีกครั้งหนึ่งด้วยค้อนแต่ง ค่อยๆตีแต่งบนกลางหรือทั่งไม้ที่ขุดเป็นเบ้าไว้รับรูปภาชนะ นำภาชนะที่แต่งรูปสมบูรณ์ผาไฟขั้นสุดท้ายจนสุกแดงแล้วนำจุ่มน้ำ เพื่อให้ทองเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วทำให้โลหะมีความแข็งแรงและมีผิวหนทานต่อการสึกหรอ

ประวัติวัตถุจัดแสดง