สัตตภัณฑ์

สัตตภัณฑ์ เป็นเครื่องประกอบพิธีทางศาสนาของล้านนา ในอดีตใช้สำหรับเป็นที่จุดเทียน 7 เล่ม ซึ่งปัจจุบันจะไม่มีการนำมาจุดเทียน แต่จะใช้ประดับอยู่หน้าพระประธานในวิหารเท่านั้น ขนาด ฐานกว้าง 133.8 ซม. กว้าง 134.5 ซม. สูง 168.0 ซม. ลักษณะรูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว จะมีเชิงเทียนไล่ลงมาจากยอดถึงฐานทั้ง 2 ด้าน รวม 7 เล่ม ทำด้วยไม้สัก เป็นสัตตภัณฑ์ศิลปะล้านนาโบราณ โดยตรงขอบทั้งฝั่งซ้ายและขวาแกะสลักรูปพญานาคประดับด้วยกระจกจืน ใจกลางของสัตตภัณฑ์เป็นรูปเทวดาถือเครือดอกล้านนาทำด้วยสมุกเกสรดอกไม้ผสมรักปั้นเป็นรูปเทวดา และเครือดอกไม้ลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกจืน ส่วนฐานของสัตตภัณฑ์ลงรักปิดทองลายดอกล้านนา ชาวล้านนานิยมสร้างสัตตภัณฑ์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยเชื่อว่าผู้สร้างจะได้บุญกุศลมหาศาล และเมื่อสิ้นอายุขัย ผู้นั้นจะได้ไปเกิดบนสวรรค์ ส่วนใหญ่สัตตภัณฑ์มักมีรูปพญานาคประกอบอยู่เสมอ เนื่องจากพญานาคเป็นสัตว์แห่งพุทธศาสนา จึงพบรูปพญานาคปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาได้ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีคติความเชื่อที่สำคัญอีก 2 ประการ คือ 1. แนวคิดเกี่ยวกับจักรวาลวิทยา สัตตภัณฑ์สร้างขึ้นโดยแฝงด้วยสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างจักรวาลกับโลก โดยจำลองสัณฐานของจักรวาลในแนวตั้ง ซึ่งมีระเบียบเช่นเดียวกับภาพจิตรกรรมเขาพระสุเมรุ ซึ่งทางล้านนาเรียกว่าสิเนรุที่ล้อมรอบด้วยเขาบริวารทั้ง 7 เป็นวงกลมลดหลั่นกันลงมา ประกอบด้วย ยุคันธร อิสินธร กรวิก สุทัสนะ เนมินธร วินันตกะ และ อัสสกัณณ์ 2. แนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา สัตตภัณฑ์สร้างขึ้นโดยสอดแทรกหลักธรรมหรือหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับเลข 7 ได้แก่ หลักโพชฌงค์ 7 สัทธัมมะ 7 สัปปุริสธัมมะ 7 เป็นต้น เพื่อให้ชาวพุทธล้านนานำไปเป็นแนวปฏิบัติในชีวิต

ขนาด

ขนาด : ฐก. 133.8 ซม. ก. 134.5 ซม. ส. 168.0 ซม. / ลักษณะทางกายภาพ : ลักษณะรูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีเชิงเทียนไล่ลงมาจากยอดถึงฐานทั้ง 2 ด้าน รวม 7 ที่ ทำด้วยไม้สัก เป็นสัตตภัณฑ์ศิลปะล้านนาโบราณ โดยด้านข้างทั้งฝั่งซ้ายและขวาแกะสลักรูปพญานาคประดับด้วยกระจกจืน ใจกลางของสัตตภัณฑ์เป็นรูปเทวดาถือเครือดอกล้านนาทำด้วยสมุกเกสรดอกไม้ผสมรักปั้นเป็นรูปเทวดา และเครือดอกไม้ลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกจืน ส่วนฐานของสัตตภัณฑ์ลงรักปิดทองลายดอกล้านนา

ชื่อเจ้าของ

วัดมงคลทุ่งแป้ง

ประวัติเจ้าของ

ไม่ทราบ

ประวัติวัตถุจัดแสดง

ไม่ทราบ

แหล่งที่ได้มา/โอนย้าย

วิหารวัดมงคลทุ่งแป้ง

ช่วงเวลาการสะสม

ไม่ทราบ