ประเพณีบุญออกพรรษา งานประทีบเรือไฟบก (จุดประทีปตูมกา)

รายละเอียด

ประเพณีบุญออกพรรษา งานประทีบเรือไฟบก (จุดประทีปตูมกา) หรือประเพณีบุญเดือนสิบเอ็ด (ตุลาคม) ประเพณีบุญออกพรรษา เป็นการทำบุญในเดือนสิบเอ็ด คือ การทำบุญในวันออกพรรษา ของพระสงฆ์ “พรรษา” หมายถึง “ฤดูฝน” ปีหนึ่งมี 4 เดือน คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ในระยะ 3 เดือนแรก ให้เข้าพรรษาก่อน และอีก 1 เดือน ให้หาผ้าจีวรมาผลัดเปลี่ยน บุญออกพรรษาทำกันในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด ในการทำบุญวันออกพรรษา จะมีพิธีถวายผ้าจำนำพรรษา คือ ผ้าที่ภิกษุ จะรับได้ต่อเมื่อจำพรรษาแล้ว และพระสงฆ์ในวัดจะประกอบพิธีทำปวารณา คือเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ได้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ส่วนญาติโยมก็ไปทำบุญที่วัดตามปกติเหมือนเทศกาลอื่นๆ ที่บ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เมื่อถึงวันออกพรรษา จะมีประเพณีสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษคือ ประเพณีไหลเรือไฟบก ซึ่งเป็นประเพณีที่กระทำกันในชาติพันธุ์ไทญ้อ และชาวบ้านโพนยังคงยึดถึงปฏิบัติกันเป็นประจำทุกปี จนเรียกได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนบ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

ส่วน “ประเพณีไหลเรือไฟบก” นี้ จัดขึ้นในวันออกพรรษา เช่นเดียวกับประเพณีไหลเรือไฟทั่วไป แต่เพราะที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ไกลแม่น้ำ ชาวบ้านโพนจึงดัดแปลงเป็นการจัดประเพณีไหลเรือไฟบก เริ่มต้นจากการเก็บลูกมะตูมกา (ตูมกา) มาผ่าคว้านเม็ดในออก แล้วควั่นฝ้ายติดไขว้กันเป็นกากบาท สำหรับเป็นไส้จุดไฟ ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งจะช่วยกันเคี่ยวน้ำมันพระพร้าวและสานไม้ไผ่เป็นแผงสำหรับวางลูกตูมกาได้ในเวลาค่ำหลังจากทำพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงเช้า ซึ่งเป็นประเพณีแห่ข้าวพันก้อนและตักบาตรที่วัดคามวาสีแล้ว ก็จะมีการเวียนเทียน แล้วจึงพากันตักน้ำมันใส่ลูกตูมกา แล้วเอาไส้ฝ้ายใส่ตรงกลาง จุดไฟติดไส้ เรียงไว้ในแผงไม้ไผ่ แล้วอธิษฐานส่วนบุญ ภาพเรือไฟบกจะเกิดแสงไฟวับแวม เป็นประเพณีแห่งความศรัทธาและสามัคคีของชาวไทญ้อบ้านโพนอย่างแท้จริง

ช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ณ ชุมชนไทญ้อบ้านโพน จะมีประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ของชาติพันธุ์ซึ่งผู้เยี่ยมเยือนสามารถเข้าร่วมทำบุญและร่วมกิจกรรทางศาสนาตามวิถีปฏิบัติที่ได้ทำการฟื้นฟูและอนุรักษ์ต่อกันมา นั่นคือ “ประเพณีไหลเรือไฟบก” ที่จัดขึ้นในวันออกพรรษา เช่นเดียวกับประเพณี ไหลเรือไฟทั่วไป แต่เพราะที่ตั้งบ้านของชาวไทญ้อบ้านโพนอยู่ไกลแม่น้ำ ชาวบ้านโพนจึงดัดแปลงเป็น การจัดประเพณีไหลเรือไฟบก โดยผู้เยี่ยมเยือนสามารถเข้าร่วมสัมผัสและทำกิจกรรมเตรียมงานร่วมกับชุมชนไทญ้อบ้านโพน โดยเริ่มต้นจากการเก็บลูกมะตูมกา (ตูมกา) มาผ่าคว้านเม็ดในออก แล้วควั่นฝ้าย ติดไขว้กันเป็นกากบาท สำหรับเป็นไส้จุดไฟ อีกส่วนหนึ่งจะช่วยกันเคี่ยวน้ำมันพระพร้าวและสานไม้ไผ่ เป็นแผงสำหรับวางลูกตูมกาได้ในเวลาค่ำหลังจากทำพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงเช้า นอกจากนี้ ยังมีการแห่ข้าวพันก้อนและตักบาตรที่วัดคามวาสีด้วย ล่วงมาถึงช่วงหัวค่ำผู้เยี่ยมเยือนก็จะเข้าร่วมกิจกรรมการเวียนเทียน แล้วจึงตักน้ำมันใส่ลูกตูมกา แล้วเอาไส้ฝ้ายใส่ตรงกลาง จุดไฟติดไส้ เรียงไว้ในแผงไม้ไผ่ แล้วอธิษฐานส่วนบุญ ภาพเรือไฟบกจะเกิดแสงไฟวับแวม เป็นประเพณีแห่งความศรัทธาและสามัคคี ของชาวไทญ้อบ้านโพนซึ่งชวนให้ผู้เยี่ยมเยือนจากต่างถิ่นมาร่วมประเพณีอันทรงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของชาวไทญ้อบ้านโพนอย่างยิ่ง