พระพุทธรูปไม้แกะสลักปางไสยาสน์

รายละเอียด

  

พระพุทธรูปไม้แกะสลักปางไสยาสน์ ปรากฏในตู้เก็บวัตถุโบราณภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อ วัดคามวาสี บ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยพุทธลักษณะเป็นการนำท่อนไม้ขนาดกลางมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปบางไสยาสน์ หรือ ปางโปรดอสุรินทราหู เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถ นอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้) เป็นสิริมงคลของผู้เกิดวันอังคาร ทั้งนี้ตามคติการสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้รำลึกถึง การเสด็จปรินิพพานขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท สังขารทั้งหลายเป็นสิ่งไม่เที่ยง แม้กระทั่งพระพุทธองค์ก็ยังเลี่ยงไม่พ้น นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนของการขจัดความมัวเมาลุ่มหลง เห็นผิดเป็นชอบที่เป็นลักษณะของราหู และเชื่อกันหากได้ขอพร จะโชคดี พ้นภัย เป็นการสะเดาะเคราะห์ ช่วยให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี หากสังเกตพระพุทธรูปไม้แกะสลักปางไสยาสน์ซึ่งจัดแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อวัดคามวาสี จะพบว่า ลักษณะพุทธศิลป์เป็นการแกะสลักพระพุทธรูป แบบมหายาน จึงเชื่อได้ว่ามีการนำเข้าหัตถศิลป์แกะสลักพระพุทธรูปจากเวียดนามแพร่กระจายเข้ามา ในชุมชนไทญ้อบ้านโพนในสมัยนั้น


พระพุทธรูปไม้แกะสลักปางไสยาสน์ เป็นลักษณะของรูปสมมุติของพระพุทธเจ้าในอิริยาบถบรรทม (นอน) โดยนำไม้สักมาแกะสลักไว้อย่างสวยงาม