เงินฮาง

รายละเอียด

  

เงินฮาง ปรากฏในตู้เก็บวัตถุโบราณภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อ วัดคามวาสี บ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยเป็นเงินตราเงินตราล้านช้าง มีลักษณะรูปแบบโดยทั่วไปแสดงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากเงินตราท้องถิ่นในภูมิภาคอื่นของไทย มีลักษณะรูปร่างเป็นเงินแท่งยาว มีหลายขนาด คล้ายเรือ เหมือนเงินแท่งของจีน มีการประทับตรารูปสัญลักษณ์หรือตัวอักษรบนตัวเงิน พบเงินตราท้องถิ่นใช้กันในภาคอีสานของไทยมีหลายชนิดตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีอัตราแลกเปลี่ยนไม่แน่นอนเนื่องจากมีการค้าขายกับ ชนชาติจีนฮ่อ ญวนมาก จึงนำอัตราแลกแบบจีนฮ่อและญวนมาใช้ปนกัน ทำให้อัตราเงินไม่มีกำหนดเป็นแบบเดียวกัน (ไม่มีมาตรฐาน) เหมือนกันทั้งหมด เงินตราทุกชนิดที่จะกล่าวถึงไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นต้นคิดต้นแบบ เมื่อใด เพราะไม่มีวันเดือนปีทำ ชื่อผู้ผลิต พิจารณาตามรูปลักษณะที่ปรากฏพบว่า ได้แบบมาจากญวนหรือเวียดนาม และจีนใต้ โดย เงินฮาง เป็นหนึ่งในชนิดของเงินตราล้านช้าง เรียกอีกอย่างว่า "เงินแท่ง” ตามลักษณะรูปร่างเป็นแท่งมีเนื้อเงินมาก ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีหัวท้ายงอน เหมือนเรือไหหลำ น้ำหนัก 6 ตำลึง 6 สลึง เป็นเงินตราที่ได้รับอิทธิพลจากเวียดนาม มีลักษณะคล้ายฮางข้าวที่ใส่ข้าวให้หมูจึงเรียกกันว่า "เงินฮาง" ทำจากเงินบริสุทธิ์ ตีตราอักษรเวียดนามโบราณหรืออักษรจีน ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง ด้านหัวและท้าย เงินชนิดนี้ได้แพร่เข้ามาในดินแดนล้านช้างหรือลาว และภาคอีสานของไทย ตลอดจนได้รับการยอมรับของคนในสมัยนั้นเนื่องจากทำจากเงินบริสุทธิ์สูงถึง 98% และชาวไทญ้อบ้านโพนในสมัยนั้น ก็ใช้เงินฮางในการซื้อขาย-ค้าขายเช่นกัน


เงินฮาง ถูกใช้อย่างแพร่หลายในแถบลุ่มแม่น้ำโขงในอดีต โดยหล่อจากเงินบริสุทธิ์ เป็นเงินตราท้องถิ่นภาคอีสานหรือเงินตราล้านช้าง มีลักษณะเป็นแท่งยาวคล้ายเรือ