พระพุทธรูปจากเขากระบือ

รายละเอียด

  

พระพุทธรูปโบราณทำจากเขากระบือ ปรากฏในตู้เก็บวัตถุโบราณภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อวัดคามวาสีบ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยพระพุทธรูปโบราณทำจาก เขากระบือ ส่วนใหญ่ปรากฏเห็นมี 2 ปาง คือ (1) พระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร หรือปางมารสะดุ้ง เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะพญามารได้ และ (2) พระพุทธรูปปางสมาธิราบเป็นพระพุทธรูปลักษณะนั่งสมาธิ นั่งลำพระองค์ตั้งตรงพระบาททั้งสองซ้อนกัน โดยพระบาทขวาซ้อนทับอยู่บนพระบาทซ้าย พระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนหงายกันบนพระเพลา โดยวางพระหัตถ์ขวาซ้อนหงายอยู่บนพระหัตถ์ซ้ายเป็นลักษณะทางพุทธศิลป์แบบขัดสมาธิราบ จัดเป็น "ปฐมปาง" หรือปางที่ให้กำเนิดองค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยพระองค์ทรงอยู่ในพระอิริยาบถนี้ในคืนวันตรัสรู้เรียกได้อีกอย่างว่าปางตรัสรู้ การสร้างพุทธรูปโบราณทำจากเขากระบือนั้น แสดงให้เห็นความหลากหลายทางด้าน การออกแบบรวมถึงการนำวัสดุจากธรรมชาติมาสร้างสรรค์แกะสลักเป็นพระพุทธรูปเพื่อเป็นพุทธบูชา นอกจากนี้ยังเป็นคติความเชื่อสอดคล้องกับโคลงโลกนิติที่ว่า “โคควายวายชีพได้ เขาหนัง เป็นสิ่งเป็นอันยัง อยู่ไซร้ คนเด็ดดับศูนย์สัง- ขารร่าง เป็นชื่อเป็นเสียงได้ แต่ร้ายกลับดีฯ” โดยแสดงให้เห็นว่าวัว-ควาย ทำคุณประโยชน์ไว้เมื่อตายไปยังคงเหลือเขาและหนังไว้แสดงถึงคุณงามความดี หากแต่มนุษย์ไม่มีสิ่งใดคงเหลือไว้มีเพียงสองสิ่งที่คงเหลือให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ตระหนักและรับรู้คือ คุณงามความดีและความชั่วที่ได้ทำเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับโอวาท 3 หลักคำสอนที่เป็นหัวใจสำคัญ ของศาสนาพุทธที่ว่า (1) ทำความดี (2) ละเว้นความชั่ว และ (3) ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงเหตุผลในการนำเขากระบือมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปก็เพื่อเป็นการยกย่องสัตว์เลี้ยงคือ กระบือ ในคราวที่กระบือยังมีชีวิตอยู่ได้ทำคุณประโยชน์อเนกอนันต์ให้กับเจ้าของ อาทิ ในการนำกระบือมาฝึกไว้ใช้ในการไถนา เป็นพาหนะเดินทางเข้าพื้นที่การทำนา และใช้ในการเทียมเกวียนเพื่อการสัญจรในอดีต เมื่อครั้นที่กระบือเสียชีวิต จึงใช้เขากระบือตัวนั้นๆ มาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปและเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของสัตว์เลี้ยง ตัวนั้นๆ ตลอดจนอวยพรให้สัตว์เลี้ยงได้อานิสงค์ผลบุญไปเกิดในภพภูมิที่สุขสบายและสูงขึ้นตามความเชื่อ การทำความดีของคนอีสาน สอดคล้องกับรายละเอียดที่ระบุไว้ในไตรภูมิพระร่วง ซึ่งคุณลักษณะของพระพุทธรูปโบราณทำจากเขากระบือของชาวไทญ้อบ้านโพน มีคุณลักษณะเช่นเดียวกันกับการสร้างพระพุทธรูปไม้อีสาน ดังนี้ มีพระวรกายที่ผิดหลักกายวิภาคในธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปโดยทั่วไป เช่น สัดส่วนที่ดูขาดๆ เกินๆ พระหัตถ์ พระบาท จะมีลักษณะที่ใหญ่กว่าพระพุทธรูปโดยทั่วไป สะท้อนถึงสังคมอีสานซึ่งเป็นวิถีสังคมเกษตรกรรมที่ทำไร่ ทำนา ต้องใช้มือเท้าเป็นสำคัญดังนั้นมือเท้าต้องแข็งแรง อนึ่งเมื่อพิจารณาสุนทรียภาพการแสดงออกทางอารมณ์ของ พระพักตร์ของพระพุทธรูปไม้ เป็นลักษณะเฉพาะที่มีคุณสมบัติพิเศษ ที่ทำให้ผู้พบเห็นเกิดสะเทือนอารมณ์ทั้งในบุคลิกที่เคร่งครึมดุดัน หรือผ่อนคลายด้วยสีหน้าอารมณ์ที่ชัดเจน โดยส่วนใหญ่พระพักตร์จะมีลักษณะที่ยิ้มแย้มสดใสแลดูอบอุ่น สร้างความรู้สึกที่เป็นกันเองดูผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด นอกจากนี้ เส้นสายรายละเอียดของรูปทรงและผิวสัมผัสของพระพุทธรูปโบราณทำจากเขากระบือ มีลักษณะดิบๆ แข็งๆ หยาบๆ มีทักษะฝีมือที่ไม่อ่อนหวานละเอียดอ่อน อันเกิดจากสัญชาตญาณในสุนทรียะที่ใช้ความรู้สึกซึ่งให้อารมณ์ที่มีคุณค่าสูงยิ่งในศิลปะ จนลบล้างข้อด้อยอื่นๆ ซึ่งคุณลักษณะนี้เองที่ช่วยก่อเกิดอัตลักษณ์เฉพาะเมื่อพบเห็น


พระพุทธรูปที่ถูกแกะสลักจากเขากระบือ ถูกจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อ ในวัดคามวาสี