พระพุทธรูปไม้โบราณ

รายละเอียด

  

พระพุทธรูปไม้โบราณ ปรากฏในตู้เก็บวัตถุโบราณภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อ วัดคามวาสีบ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยพระพุทธรูปไม้โบราณส่วนใหญ่มี 2 ปาง คือ (1) พระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร หรือปางมารสะดุ้ง เป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณีในคราวที่พระองค์ทรงเอาชนะพญามารได้ และ (2) พระพุทธรูปปางสมาธิราบ เป็นพระพุทธรูปลักษณะนั่งสมาธิ นั่งลำพระองค์ตั้งตรงพระบาททั้งสองซ้อนกัน โดยพระบาทขวาซ้อนทับอยู่บนพระบาทซ้าย พระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนหงายกันบนพระเพลา โดยวางพระหัตถ์ขวาซ้อนหงายอยู่บนพระหัตถ์ซ้าย เป็นลักษณะทางพุทธศิลป์แบบขัดสมาธิราบ จัดเป็น "ปฐมปาง" หรือปางที่ให้กำเนิดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยพระองค์ทรงอยู่ในพระอิริยาบถนี้ในคืนวันตรัสรู้เรียกได้อีกอย่างว่าปางตรัสรู้ โดยการสร้างพุทธรูปไม้มีเหตุผลในการสร้างเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยแวดล้อมทางบริบทสังคมอีสาน ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี เครื่องมือและอุปกรณ์ ตลอดจนวัสดุที่ใช้ในการสร้างพระพุทธรูป ส่งผลต่อคติความเชื่อของวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสานก่อเกิดเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอีสานในการสร้างพระพุทธรูปไม้ ซึ่งคุณลักษณะของพระพุทธรูปไม้ไทญ้อบ้านโพน มีคุณลักษณะเช่นเดียวกันกับการสร้างพระพุทธรูปไม้อีสาน ดังนี้ มีพระวรกายที่ผิดหลักกายวิภาคในธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปโดยทั่วไป เช่น สัดส่วนที่ดูขาดๆ เกินๆ พระหัตถ์ พระบาท จะมีลักษณะที่ใหญ่กว่าพระพุทธรูปโดยทั่วไป สะท้อนถึงสังคมอีสานซึ่งเป็นวิถีสังคมเกษตรกรรมที่ทำไร่ ทำนา ต้องใช้มือเท้าเป็นสำคัญดังนั้นมือเท้าต้องแข็งแรง อนึ่งเมื่อพิจารณาสุนทรียภาพ การแสดงออกทางอารมณ์ของ พระพักตร์ของพระพุทธรูปไม้ เป็นลักษณะเฉพาะที่มีคุณสมบัติพิเศษ ที่ทำให้ ผู้พบเห็นเกิดสะเทือนอารมณ์ทั้งในบุคลิกที่เคร่งครึมดุดัน หรือผ่อนคลายด้วยสีหน้าอารมณ์ที่ชัดเจน โดยส่วนใหญ่พระพักตร์จะมีลักษณะที่ยิ้มแย้มสดใสแลดูอบอุ่น สร้างความรู้สึกที่เป็นกันเองดูผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด บางครั้งช่างได้แกะสลักส่วนพระพักตร์มีลักษณะแบบเด็กๆ ซึ่งแลดูเด๋อๆ ด๋าๆ น่ารัก แบบซื่อๆนอกจากนี้ เส้นสายรายละเอียดของรูปทรงและผิวสัมผัสของพระพุทธรูปไม้มีลักษณะดิบๆ แข็งๆ หยาบๆ มีทักษะฝีมือที่ไม่อ่อนหวานละเอียดอ่อน อันเกิดจากสัญชาตญาณในสุนทรียะที่ใช้ความรู้สึกซึ่งให้อารมณ์ที่มีคุณค่าสูงยิ่งในศิลปะ จนลบล้างข้อด้อยอื่นๆ ซึ่งคุณลักษณะนี้เองที่ช่วยก่อเกิดอัตลักษณ์เฉพาะเมื่อพบเห็น การเลือกใช้ไม้ในการสร้างพระพุทธรูปไม้ของไทญ้อบ้านโพน ส่วนมากใช้ไม้ที่เป็นมงคล คือไม้ที่มีชื่อดีที่เป็นสิริมงคล เช่น ไม้คูณ หมายถึงการค้ำคูณอยู่ดีมีแฮง ตามคติอีสานและไม้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหรือตำนานเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ไม้มงคลที่นิยมนำมาทำพระไม้ ได้แก่ 1. ไม้โพธิ์, 2. ไม้คูณ ต้นราชพฤกษ์, 3. ไม้ยอ, 4. ไม้จันทร์ (แก่นจันทร์), 5. ไม้พยุง, 6. ไม้ขนุน, 7. ไม้กระโดน และ 8. ไม้มะขาม ทั้งนี้ ไม่ว่าพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปไม้ จะถูกนำไปเปรียบเทียบลักษณะความงามในการสร้างพระพุทธรูปตามลักษณะพิเศษ 32 ประการกับพุทธศิลป์พิมพ์นิยมในยุคต่างๆของการสร้างพระพุทธรูป ว่าไม่มีความงดงามเท่า แต่ในพุทธศิลป์อันบริสุทธ์สะท้อนความศรัทธาของศาสนาพุทธก้าวข้ามการเปรียบเทียบสู่อัตลักษณ์เฉพาะถิ่น และยังคงสื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าลักษณะทางพุทธศิลป์ในการสร้างพระพุทธรูปของช่างพื้นบ้านไทญ้อบ้านโพนจะเป็นเช่นไร แต่พระพุทธรูปไม้ที่สร้างขึ้นยังสื่อแสดงถึงรูปตัวแทนหรือรูปเปรียบ องค์พระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ



พระพุทธรูปไม้โบราณ งานไม้แกะสลัก เป็นการสร้างงานศิลป์จากศรัทธา เป็นงานพุทธศิลป์ พระพุทธรูปไม้อันทรงคุณค่า