โป่งไม้

รายละเอียด

  

โปง หรือ กะปุง (ระฆังใหญ่ทำด้วยไม้ กระทุ้งด้วยไม้ทำให้เกิดเสียง) ตีบอกเวลาในกิจกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา เป็นการสื่อสารระหว่างพระกับชาวบ้าน โปง เป็นเครื่องตีบอกอาณัติสัญญาณของพระสงฆ์ในวัด แทนการตีระฆัง หรือกลอง เพราะเสียงโปงจะดังกังวานกว่าระฆังหรือกลอง โปงทำด้วยไม้เนื้อแข็ง แล้วนำมาขุดให้เป็นโพรงกลวงข้างใน คว่ำด้านที่ขุดเป็นโพรงลงด้านล่าง เจาะด้านข้างเป็นรูทั้งสองข้างเพื่อเป็นรูเสียง หรือรูแพ แล้วเจาะรูด้านบนสำหรับสอดไม้ค้ำโปงกับเสาแขวนไว้ใต้หอระฆัง เวลาตีใช้ไม้ท่อนใหญ่ๆ ลักษณะคล้ายสากกระทุ้งโปงเพื่อให้เกิดเสียง การกระทุ้งโปงภาษาท้องถิ่นอีสานเรียก "ทั่งโปง" กระทุ้งโปงตามช่วงเวลา ดังนี้ เวลาเช้า ก่อนพระบิณฑบาต เพื่อให้ญาติโยมเตรียมตัวตักบาตร, เวลาเย็น เพื่อประโยชน์ให้คนที่หลงป่ากลับมาถูกทิศ, เวลาย่ำค่ำ ในช่วงเข้าพรรษาเพื่อให้พระลงทำวัตรเย็น, เวลายามวิกาล แสดงว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นในวัด และแจ้งข่าวสารให้ชาวบ้านได้ทราบว่าทางวัดขอความช่วยเหลือ โปง อยู่ในหอกลองและหอระฆัง ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดคามวาสี เป็นอาคารยกสูง 2 ชั้น ลักษณะก่อสร้างตัวอาคารด้วยโครงสร้างและองค์ประกอบเป็นไม้ทั้งหลัง มีไม้พาดเป็นขื่อสำหรับแขวนโปง, ระฆัง และกลอง มีความโปร่งโล่ง เพราะไม่ได้ก่อฝาผนังทึบตัน โดยอยู่ในเขตพุทธาวาส ใช้แขวนโปง, ระฆัง และกลองสำหรับตีบอกเวลา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทราบเวลาสำหรับการประกอบวัตรปฏิบัติต่างๆ โดยพร้อมเพรียงกัน อันได้แก่ การทำวัตรเช้า-เย็น การฉันเพล ฯลฯ




โปงไม้ หมายถึง ระฆังใหญ่ ทำด้วยไม้ ใช้กระทุ้งให้เกิดเสียง ใช้แทนการตีระฆัง หรือกลอง เพราะเสียงโปงจะดังกังวานกว่าระฆังหรือกลอง ทำด้วยไม้เนื้อแข็งให้เสียงทุ้มนุ่มนวลและได้ยินไปไกล โดยทางวัดคามวาสียังได้เก็บโปงไม้ที่เคยใช้หรือชำรุดไปแล้วไว้ที่หอระฆัง