ผ้าฝ้ายมัดย้อม

รายละเอียด

  

ตามประเพณีและวัฒนธรรมเดิมของชาวไทญ้อ ทั้งชายและหญิงแต่งกายด้วยเสื่อผ้าสีดำ ซึ่งทอด้วยผ้าฝ้ายพื้นเมืองย้อมด้วยน้ำคราม เรียกว่า “ผ้าย้อมหม้อ” (เหมือนกับผ้าหม้อฮ่อมของทางภาคเหนือ) ทุกวันนี้ในอำเภอท่าอุเทนยังมีการทำสวนคราม เพื่อทำน้ำครามกันอยู่บ้างบางแห่ง แต่ที่บ้านโพนซึ่งแต่เดิมเป็น บ่อครามนั้น ปัจจุบันไม่มีแล้วเนื่องจากถูกใช้พื้นที่เป็นบ้านเรือนราษฎรเมื่อประมาณเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา

ขั้นตอนการมัดหมี่ของชาวไทญ้อบ้านโพนจะมีขั้นตอนคล้ายการมัดหมี่ของชาวอีสานโบราณดั้งเดิม ซึ่ง “การมัดหมี่” นั้นเป็นกรรมวิธีการทอผ้าแบบหนึ่ง ที่อาศัยการย้อมเส้นด้ายก่อนการทอ ทั้งที่ย้อมเฉพาะ ด้ายพุ่งและย้อมด้ายยืน เพื่อให้เมื่อทอผ้าออกมาเป็นผืนแล้ว เกิดเป็นลวดลายและสีสันตามที่ต้องการ การย้อมเส้นด้ายของชาวไทญ้อสามารถย้อมได้ทั้งทั้งเส้นไหม ฝ้าย และเส้นใยสังเคราะห์ ทั้งนี้ คำว่า "มัดหมี่" มาจากกรรมวิธีการ "มัด" เส้นด้ายเป็นกลุ่มๆ ก่อนการย้อมสี ส่วน "หมี่" นั้น หมายถึง เส้นด้าย การมัดหมี่ใช้ขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยากต้องอาศัยความเชี่ยวชาญสูง ตั้งแต่การเตรียมเส้นด้าย และมัดเพื่อย้อมสีเป็นช่วงๆ กระทั่งได้สีที่ต้องการครบถ้วน การมัดหมี่ เป็นการทำลวดลายของผืนผ้า โดยการใช้วัสดุกันน้ำมัดกลุ่มเส้นฝ้ายเป็นลวดลายตามต้องการ (สมัยก่อนชาวไทญ้อใช้เส้นกาบกล้วยในการมัด แต่ในปัจจุบันใช้เชือกฟางในการมัด) ก่อนนำฝ้ายย้อมน้ำสีย้อมหม้อ เมื่อแก้วัสดุกันน้ำออกจึงเกิดสีย้อมหม้อ ก่อนมัดหมี่ ต้องค้นหมี่ก่อน โดยการนำเส้นฝ้ายพันรอบหลักหมี่ 1 คู่ นับจำนวนเส้นฝ้ายให้สัมพันธ์กับลายหมี่ที่จะมัด จากนั้นจึงทำการมัดหมี่กลุ่มเส้นฝ้ายในหลักหมี่ ตามลวดลายหมี่ที่ต้องการ เมื่อถอดฝ้ายมัดหมี่ออกจากหลักหมี่ นำไปย้อมสี บิดให้หมาดแล้วจึงแก้ปอมัดหมี่ออก ทำให้เกิดลวดลายตรงที่แก้ปอออก นำฝ้ายที่แก้ปอมัดแล้วนี้ไปพันรอบหลอดไม้ไผ่เรียกว่า การปั่นหลอด ร้อยหลอดฝ้ายตามลำดับก่อน-หลัง เก็บไว้อย่างดีระวังไม่ให้ถูกรบกวนจนเชือกร้อยขาด ฝ้ายมัดหมี่ในหลอดฝ้ายใช้เป็นเส้นพุ่งในการทอการค้นหมี่



เป็นการเอาเชือกมามัดด้ายหรือมัดเส้นไหมตามลวดลายที่ได้ออกแบบไว้ สามารถทำได้ดีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม แล้วจึงนำไปขึงเข้ากับ “โฮงหมี่” เชือกที่ใช้มัดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี เรียกว่าการ “โอบ” ซึ่งปัจจุบันหันมาใช้เชือกฟางพลาสติกแทน เพราะหาได้ง่ายกว่า ตำแหน่งที่มัดให้เกิดลวดลายนั้น จะต้องอาศัยทักษะของช่างหมี่ที่ชำนาญและมีความแม่นยำ เพื่อให้ได้ลวดลายที่ชัดเจนและต้องการก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทอในขั้นตอนต่อไป การทอผ้านั้นสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในแถบภาคอีสานได้เป็นอย่างดี เพราะโดยส่วนใหญ่ชาวบ้านมักจะทำเกษตรกรรม ต้องมีเวลาว่างจากการทำนา ผู้หญิงก็มักจะมาทอผ้า โดยการทำผ้ามัดหมี่ของไทญ้อบ้านโพน มักเป็นลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ลายนกยูง ลายบายศรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหลายลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ประทานลายผ้าเป็นของขวัญปีใหม่ อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่ากังวลใจก็คือในบ้านโพนนั้นยังขาดเยาวชนที่สนใจและสืบทอดการทำผ้ามัดหมี่อยู่นั่นเอง