วันสารทไทย : ความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชน

รายละเอียด

	“สารท” เป็นการทำบุญกลางปีของไทย ตรงกับวันสิ้นเดือน ๑๐ หรือวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งเป็นฤดูที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้สุก ข้าวและต้นผลไม้ที่ปลูกไว้กำลังให้ผลเป็นครั้งแรกในฤดูนี้ ในภาคใต้มีประเพณีทำบุญวันสารทเดือนสิบ ถือเป็นงานบุญประเพณีที่สำคัญของชาวไทยพุทธ ไม่ว่าลูกหลานหรือญาติพี่น้องของคนในครอบครัวจะไปทำงานอยู่แห่งหนตำบลใด มักจะต้องลางานหรือหยุดงานเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อมากราบไหว้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และผู้ที่เคารพนับถือเพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณ รวมทั้งจะได้ทำบุญให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายและญาติพี่น้องที่ต้องตกนรกเนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกในทุกวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ เพื่อมาขอรับส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้องยังโลกมนุษย์ ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หรือที่เรียกกันว่า "วันรับตายาย" หรือเป็นวันบุญแรก หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ "วันส่งตายาย" หรือเป็นวันบุญหลังหรือบุญใหญ่ 
	ประเพณีบุญสารทเดือนสิบของจังหวัดสตูล เริ่มขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ เรียกกันว่า “วันหฺมฺรับเล็ก” หรือ “วันรับตายาย” ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ เชื่อกันว่าเป็นวันแรกที่วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ได้รับอนุญาต ให้กลับมาเยี่ยมลูกหลาน มีการจัดหมรับเล็กและหลองหมรับในคืนเดียวกันบางวัดจะจัดกิจกรรมเพื่อให้ลูกหลานเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเพื่อความสนุกสนาน รุ่งเช้าจึงทำการแห่ขบวนหมรับเข้าวัดทั้งนี้ลูกหลานจะจัดอาหารคาวหวาน ไปทำบุญที่วัดเพื่อถวายพระและถือเป็นการต้อนรับบรรพบุรุษที่มารับบุญด้วย
 	วันจ่าย ตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่ต้องตระเตรียมข้าวของสำหรับจัดหฺมฺรับ โดยไปตลาดเพื่อจัดจ่ายข้าวของเป็นการพิเศษกว่าวันอื่นๆ
 	วันยกหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม ๑๔ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัด อาจจะรวมกลุ่มคน บ้านใกล้เรือนเคียงไปเป็นกลุ่มหรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนาน

 	วันหฺมฺรับใหญ่ หรือวันหลองหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่นำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่ ทำพิธีบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน และตั้งหลา (ศาลา) เปรตเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้ ขณะเดียวกัน ก็ทำพิธีฉลองสมโภชหฺมฺรับที่ยกมา สีสันของวันนี้จะอยู่ที่กิจกรรมที่เรียกว่า “ชิงเปรต” จะมีการแย่งอาหารและขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนานแล้วนำมากิน ถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคล หลังเสร็จสิ้นการชิงเปรตแล้วส่วนหนึ่งก็จะรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันที่วัดหรือต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้านด้วยใจที่อิ่มบุญ
	การจัดหฺมฺรับเป็นการเตรียมเสบียงอาหารบรรจุในภาชนะ เพื่อนำไปถวายพระสงฆ์ในช่วงเทศกาลเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศล ให้แก่บรรพชน หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ได้นำกลับไปใช้สอยในนรกภูมิ หลังจากถูกปล่อยตัวมาอยู่ในเมืองมนุษย์ช่วงเวลาหนึ่ง และต้องถึงเวลา กลับไปใช้กรรมตามเดิม ฉะนั้น บรรดาลูกหลาน ก็จะต้องจัดเตรียม สิ่งของเครื่องใช้อาหาร ฯลฯ มิให้ขาดตกบกพร่อง แล้วบรรจงจัดลงภาชนะ ตกแต่งประดับประดา ด้วยดอกไม่ให้สวยงาม เพื่อทำในสิ่งที่ดีที่สุด ให้บรรพบุรุษ ด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความผูกพัน และความกตัญญู การจัดหมรับแต่เดิมใช้กระบุงเตี้ยๆ ขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ แต่ภายหลังใช้ภาชนะได้หลายชนิด เช่น กระจาด ถาด กะละมัง ถัง หรือ กระเชอ 
	การจัดหมรับ ชั้นแรกใส่ข้าวสารรองกระบุงแล้วใส่หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล และเครื่องปรุงอาคาว หวานที่เก็บไว้ได้นานๆ เช่น มะพร้าว ฟัก มัน กล้วย (ที่ยังไม่สุก) อ้อย ข้าวโพด ข่า ตะไคร้ ขมิ้น และพืชผักอื่นๆ นอกจากนั้นก็ใส่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันก๊าดไต้ ไม้ขีดไฟ หม้อ กระทะ ถ้วยชาม เข็ม ด้าย เครื่องเชี่ยนหมาก ได้แก่ หมาก พลู ปูน กานพลู การบูร พิมเสน สีเสียด ยาเส้น บุหรี่ ยาสามัญประจำบ้าน ธูปเทียน แล้วใส่สิ่งอันเป็นหัวใจอันสำคัญของหมรับคือ ขนม 5 อย่างมี ดังนี้
	ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม
	ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับบุรพชน ใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ
	ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนสะบ้า สำหรับบุรพชนจะได้ใช้เล่นสะบ้า ในวัน สงกรานต์
	ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ
	ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินเบี้ย สำหรับใช้สอย