บูสุ : การละเล่นหนึ่งเดียวของจังหวัดสตูล

รายละเอียด

	“บูสุ” เป็นภาษามลายู แปลว่า “เหม็น”บูสุ อีกความหมายหนึ่ง คือ “สุดท้าย” เป็นการละเล่นพื้นเมืองชนิดหนึ่งของจังหวัดสตูล สมัยก่อนเด็กๆ ชอบเล่นกันมากเพราะเล่นได้หลายคน ยามว่าก็ชวนกันมาเล่นกัน ผู้เขียนจำได้ว่าในวัยเด็กผู้เขียนและเพื่อนๆ จับกลุ่มเล่น บูสุ กันแทบทุกวันก็ว่าได้เพราะอุปกรณ์ที่ใช้เล่นก็หาง่าย คือลูกฟุตบอลพลาสติกลูกเล็กๆ ก้อนอิฐ หรือไม้ขนาดพอสมควร สำหรับวางเพื่อทอยลูกบอลเล็กให้สัมผัส ผู้เล่นไม่จำกัดเพศ วัย จำนวนต้องเหมาะสมกับสถานที่ สำหรับเด็กนอกเมืองหาลุกบอลไม่ได้ เอาขี้ยางมาปั้นเป็นก้อนให้กลม ใช้แทนลูกบอล

 	วิธีเล่น 
 	แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายละ เท่าๆ กัน จับฉลากว่าฝ่ายใดเล่นก่อน อีกฝ่ายหนึ่งตั้งรับ เล่นจากท่าที่ 1 - 10 แต่ละท่ามี ชื่อต่างกัน ได้แก่ ท่าที่ ๑ เรียกว่า ลูกบูสุ ท่าที่ ๒ ลูกมือเดียว ท่าที่ ๓ ลูกสองมือ ท่าที่ ๔ ลูกตบอก ท่าที่ ๕ ลูกซีกู ท่าที่ ๖ ลูกดีดแขน ท่าที่ ๗ ลูกตบเพียะ ท่าที่ ๘ ลูกเท้าเอว ท่าที่ ๙ ลูกกังกัง และ ท่าที่ ๑๐ ลูกเซปะ(เตะ)
 	โดยเล่นทีละคน ตีบอลตามขั้นตอนของการเล่นจนหมด ถ้าผู้ใดตีบอลไปแล้วผู้เล่นฝ่ายรับ รับไม่ได้ ลูกบอลตีไปไกลเพียงใด เอาจุดที่ลูกบอลตก เป็นจุดเริ่มต้น ทอยลูกบอลไปหาเสาหลัก (ก้อนอิฐ หรือ ไม้) การวางหลักตั้งขีดเส้นด้านหน้าหลัก 1 เส้น เพื่อให้ผู้เล่นตีบอลให้พ้นเส้นคือว่าผ่าน มีสิทธิตีลูกบอลต่อไป ในแต่ละท่า ให้ตี 3 ครั้ง จึงได้ 1 คะแนน หากฝ่ายรับทอยลูกไม่ถูกหลัก ถือว่าผู้เล่นนั้นตายเหมือนกัน และฝ่ายเล่นก็จะเล่นท่าต่อไป หากฝ่ายเล่นตีลูกตายทุกคน ก็จะเปลี่ยนข้าง ฝ่ายรับจะเป็นผู้เล่นต่อไป สลับกันเลื่อยๆ จนเหนื่อย และหยุดไปเอง ผู้เล่น เล่นท่าที่ 1 ถึง 10 ได้ก่อนก็จะชนะ
 	มีอีกกติกาหนึ่ง ถ้าผู้เล่นตีลูกบอลไปแล้วฝ่ายตรงข้ามรับลูกบอลได้โดยไม่ตกถึงพื้น ทำให้ฝ่ายเล่นตายหมด ต้องเปลี่ยนให้อีกฝ่ายเล่น 
 	ดังนั้นสำหรับความหมายของ บูสุ สำหรับการละเล่นนี้คงจะหมายถึง “สุดท้าย”
 	วันนี้ผู้เขียนถึงบางอ้อ ว่า นอกจากได้รับความสนุกสนานสมัครสมานสามัคคีแล้ว ยังได้ฝึกให้เป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักทางหนีทีไล่ รู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย สร้างเสริมปัญญา 
	 อยากรู้จัง ใครหนอที่คิดการละเล่นนี้ขึ้นมา