สะพานข้ามกาลเวลาอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อำเภอละงู

รายละเอียด

	เขาโต๊ะหงายเป็นภูเขาลูกโดดๆ มีขนาดพื้นที่ประมาณ 600×300 ตารางเมตร ด้านเหนือจรดพื้นที่ราบ ส่วนด้านใต้เป็นผาชันยื่นออกไปในทะเล ด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอ่าวหาดทรายโค้งเว้าเข้าไปในแผ่นดินและเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ด้านตะวันตก ด้านใต้ และด้านตะวันออกเป็นผาชันติดทะเล มีสะพานเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราเลียบไปตามชายฝั่งผาชันด้านตะวันออก แล้วโค้งไปทางตะวันตกผ่านเขตรอยต่อระหว่างหินปูนสีเทากับหินทรายสีแดง
	แม้จะไม่มีหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ แต่จากการเปรียบเทียบลำดับชั้นหินนั้นกล่าวได้ว่า หินปูนสีเทาเป็นหินปูนกลุ่มหินทุ่งสงยุคออร์โดวิเชียน ส่วนหินทรายสีแดงเป็นหินทรายกลุ่มหินตะรุเตายุคแคมเบรียน โดยระนาบสัมผัสระหว่างกลุ่มหินทั้งสองนั้นเป็นระนาบรอยเลื่อนที่มีการวางตัวเอียงเทไปทางทิศตะวันออก และจากการที่ชั้นหินทรายสีแดงมีการวางตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือด้วยมุมเอียงเท ๒๒ องศาแล้วค่อยๆ เพิ่มการเอียงเทมากขึ้นๆ จนอยู่ในแนวตั้งฉากที่บริเวณด้านใต้ของระนาบรอยเลื่อนนั้น ทำให้กล่าวได้ว่าเป็นรอยเลื่อนปกติ และหากนักท่องเที่ยวเดินบนสะพานจากด้านหินปูนสีเทาข้ามไปยังด้านหินทรายสีแดง ถือได้ว่ากำลังมีอายุมากขึ้นจากยุคออร์โดวิเชียนไปเป็นยุคแคมเบรียนโดยผ่านระนาบรอยเลื่อนที่กำหนดเป็น “เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย” 
	ชั้นหินทรายสีแดงยุคแคมเบรียน (กลุ่มหินตะรุเตา) เหล่านี้มีหินปูนยุคออร์โดวิเชียน (กลุ่มหินทุ่งสง) วางตัวปิดทับอยู่ด้านบน ทำให้เห็นรอยสัมผัสแบบรอยเลื่อนปกติระหว่างกลุ่มหินทั้งสองที่มีอายุแตกต่างกัน ประกอบกับทัศนียภาพที่เป็นหน้าผาสูงชันและท้องทะเลสุดลูกหูลูกตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจึงได้สร้างสะพานเดินเท้ารอบภูเขาด้านติดทะเล และให้ฉายานามว่า “สะพานข้ามกาลเวลา” 
	ด้วยเหตุนี้อุทยานธรณีสตูลร่วมกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และจังหวัดสตูลจึงมีแนวคิดจัดพิธีวิวาห์หมู่ข้ามกาลเวลา เพื่อสร้างเรื่องราวให้ประชาชนในพื้นที่เกิดการเรียนรู้ และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธรณีวิทยา 
	แหล่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้และสืบสานประเพณีวิวาห์หมู่ข้ามกาลเวลากันสืบไป
	ลักษณะเด่นของแหล่ง : มีสะพานทอดตัวไปตามขอบของเขาโต๊ะหงาย เหมาะกับการเดินชมวิวและเรียนรู้ เนื่องจากเป็นพื้นที่หนึ่งไม่กี่แห่งบนโลกที่มีหินสองยุคเฉือนกันอย่างชัดเจน คือหินทรายยุคแคมเบรียน และหินปูนยุคออร์โดวิเชียน