ถ้ำเลสเตโกดอน อำเภอทุ่งหว้า

รายละเอียด

	ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ชาวบ้านจาก อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ๕ คน นำโดย “นายยุทธนันท์ แก้วพิทักษ์” ได้เข้าไปดำหากุ้งก้ามกรามใน“ถ้ำวังกล้วย” ที่ตั้งอยู่ในเขตบ้านคีรีวง ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล แล้วบังเอิญได้พบฟอสซิลชิ้นหนึ่ง มีสีน้ำตาลไหม้ น้ำหนัก ๕.๓ กิโลกรัม ยาว ๔๔ เซนติเมตร สูง ๑๖ เซนติเมตร ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามันคือฟอสซิลอะไรและมีความสำคัญอย่างไร
	เมื่อนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ พบว่านั่นคือกระดูกฟันกรามของช้าง“สเตโกดอน” ที่มีชีวิตอยู่ในยุคไมโอซีนตอนปลายถึงต้นยุคไพลสโตซีน มีอายุประมาณ ๑.๘ ล้านปี เป็นช้างรุ่นที่ ๖ ในวิวัฒนาการของสัตว์ตระกูลช้าง มีอายุเก่าแก่กว่าช้าง “แมมมอธ” (รุ่นที่ ๘ - อายุราว ๒๐,๐๐๐ ปี) เป็นอีกหนึ่งการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไทย 
	หลังจากนั้น “นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ”หรือ“นายกโอเล่ย์”นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า เจ้าของพื้นที่ เล็งเห็นความสำคัญของฟอสซิลดังกล่าว จึงนำทีมชาวบ้านพัฒนาถ้ำวังกล้วยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมกับเรียกขานถ้ำแห่งนี้เสียใหม่ว่า “ถ้ำเลสเตโกดอน” ตามลักษณะของถ้ำที่มีธารน้ำไหลผ่าน ผนวกกับชื่อของซากฟอสซิลกรามช้างสเตโกดอนที่พบในถ้ำแห่งนี้ 
	ถ้ำเลสเตโกดอนถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดสตูล การเข้าไปเที่ยวในถ้ำเลสเตโกดอน นักท่องเที่ยวต้องนั่งเรือคายักเข้าไป ภายในนั้นมีหินงอก หินย้อยตามเพดานและผนังถ้ำ หินประกายเพชร หินที่มีสายน้ำไหลผ่านดูคล้ายม่านน้ำตกเล็กๆ เสาหิน หินรูปหลอด ทำนบหิน ดูงดงามอย่างยิ่ง 
	ถ้ำเลสเตโกดอนเป็น “ถ้ำเป็น” จึงห้ามนักท่องเที่ยวแตะ จับ สัมผัส หินงอกหินย้อยที่กำลังเติบโตมีชีวิตภายในถ้ำนั้นอย่างเด็ดขาด
	ลักษณะเด่นของแหล่ง : เป็นแหล่งที่มีลักษณะธรณีสัณฐานประเภทถ้ำที่สวยงามและมีความยาวมาก ที่สำคัญที่สุดเป็นแหล่งที่พบฟอสซิลของช้างสเตโกดอนที่เดียวในจังหวัดสตูล