สตูลดินแดนแห่งมหายุคพาลีโอโซอิก

รายละเอียด

	อีกหนึ่งการค้นพบสำคัญที่ทำให้อุทยานธรณีสตูลก้าวขึ้นสู่อุทยานธรณีโลกก็คือ การค้นพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ใน “มหายุคพาลีโอโซอิก” ซึ่งแบ่งออกเป็น ๖ ยุค ได้แก่ แคมเบรียน ออร์โดวิเชียน ไซรูเลียน ดีโวเนียน คาร์บอนิเฟอรัส และเพอร์เมียน
	แผ่นดินอุทยานธรณีสตูลก่อร่างขึ้นมาจากผืนทะเลเมื่อกว่า ๕๐๐ ล้านปี หรือยุคแคมเบียนอันอุดมด้วยสัตว์รูปร่างแปลกๆ หลายชนิดที่ดำรงชิวิตอยู่บนพื้นทรายใต้ท้องทะเล บางชนิดรูปร่างคล้ายแมงดาทะเลปัจจุบันที่เรียกว่า “ไทรโลไบท์” ซึ่งมีหลักฐานเป็นซากดึกดำบรรพ์บริเวณเกาะตะรุเตา 

	นอติลอยด์ คือกลุ่มหอยทะเล ในชั้นย่อย นอติลอยด์ที่มีเปลือกห่อหุ้มภายนอกซึ่งรู้จักกันดีก็คือหอยงวงช้างในปัจจุบัน พบลักษณะเด่นของมันในช่วงต้นมหายุคพาลีโอโซอิกมีฐานะสัตว์นักล่าโดยได้พัฒนาเปลือกกระดอง ทั้งรูปแบบและรูปร่างอย่างหลากหลาย พบเป็นซากดึกดำบรรพ์ประมาณ ๒,๕๐๐ ชนิด แต่อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันเพียง ๖ ชนิดเท่านั้น 
	ปลาหมึกกลุ่มนอติลอยด์ (nautiloids) เป็นปลาหมึกกลุ่มแรกในโลก ตั้งแต่ยุคแคมเบรียนเมื่อ ๕๐๐ ล้านปีมาแล้ว ปลาหมึกกับหอยมีบรรพบุรุษร่วมกัน แต่ปลาหมึกเป็นกลุ่มที่เปลือกมีวิวัฒนาการแบ่งออกเป็นห้องๆ ทำให้ลอยตัวได้ วิวัฒนาการต่อมา คือ การที่เปลือกค่อยๆม้วนงอจนขดเป็นวง ซึ่งก้าวหน้าไปถึงขั้นวงขดนั้นเม้มซ้อนกัน ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ ด้วยขนาดและประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่ ปลาหมึกนอติลอยด์พวกที่มีเปลือกเหยียดตรง ครองความเป็นนักล่าไร้เทียมทานในทะเลยุคออร์โดวิเชียน เมื่อประมาณ ๔๘๐ – ๔๔๐ ล้านปี แต่ต่อมาปลาหมึกกลุ่มนี้กลับสูญพันธุ์ไปหมดในเหตุการณ์ mass extinction ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ตอนปลายยุคเพอร์เมียน (๒๕๐ ล้านปี) ส่วนพวกเหลือรอด เป็นพวกเปลือกขด และท้ายที่สุดหลังจากผ่านเหตุการณ์ mass extinction อีก ๒ ครั้ง มี ๒ สกุลเท่านั้นที่เหลือรอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็คือหอยงวงช้าง (nautilus) นั่นเอง


	ลำดับชั้นหินเขาน้อย-บ้านทุ่งเสม็ด ตำบลกำแพง อำเภอละงู เป็นเนินเขาเตี้ยๆ ที่มีซากฟอสซิลหลากหลายอยู่ในเนื้อหินแทบทุกตารางเมตร ไม่ว่าจะเป็น พลับพลึงทะเล แบรคคิโอพอด (หอยกาบคู่) ไทรโลไบต์ (สัตว์ที่มีรยางค์เป็นข้อปล้อง ต้นตระกูลแมงดาทะเลโบราณ) และ แกรปโตไลต์ สัตว์ทะเลขนาดเล็กมีลักษณะเป็นเส้น เมื่อส่องดูด้วยแว่นขยายจะเห็นเป็นหยักคล้ายฟันเลื่อย อาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม ฟอสซิลแกรปโตไลต์จะดูคล้ายรอยขีดเขียนบนก้อนหิน
	แหล่งหินที่ต่อเนื่องจากแหล่งลำดับชั้นหินแบบฉบับเขาน้อยไปทางตะวันออกเป็นระยะทางประมาณ ๕๐๐ เมตร ถูกคลุมด้วยอาคารสี่เสา หลังคาสังกะสี มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๒๐ × ๒๐ ตารางเมตร ลักษณะเป็นหินโผล่คล้ายจอมปลวกขนาดใหญ่ มีชั้นหินบางเรียงซ้อนกันสวยงาม ดูแปลกตา เป็นหินปูนสีแดง มีโครงสร้างคล้ายรอยระแหงโคลน ด้านบนชั้นหินมีลักษณะเดียวกับหมวดหินป่าแก่แบบฉบับเขาน้อย