สวรรค์ตะรุเตา : สวรรค์สวนทางกับนรก ที่ “ตะรุเตา”

รายละเอียด

	“เกาะตะรุเตา” เป็นเกาะใหญ่และสำคัญที่สุดในอุทยานแห่งชาติตะรุเตาซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์และความสวยงาม ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันบริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล 
ทยานแห่งชาติตะรุเตาอยู่ห่างจากตัวเมืองสตูลไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๔๐ กิโลเมตรและห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบาราประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย ๕๑ เกาะโดยแบ่งเป็นหมู่เกาะใหญ่ ๒ หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะตะรุเตาและหมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะสำคัญขนาดใหญ่มี ๗ เกาะ ได้แก่เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะดง เกาะหลีเป๊ะ เกาะเหล็ก และเกาะกลาง เฉพาะเกาะตะรุเตาเกาะเดียวมีเนื้อที่ประมาณ ๑๕๑ ตารางกิโลเมตรหรือ ๔๔.๔๕ ไร่ ส่วนยาวจากเหนือไปใต้ยาวประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ส่วนกว้างประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างเกาะอาดังกับจังหวัดสตูล แนวเขตด้านใต้ของอุทยานติดกับเส้นเขตแดนในทะเลระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย
	ลักษณะรูปร่างของเกาะตะรุเตาคล้ายนิ้วหัวแม่มือตัดท่อนเลยโคนนิ้ว ลักษณะป่องตรงกลางแล้วค่อยๆ สอบเรียวไปทางทิศเหนือสุด พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะตะรุเตาเป็นภูเขาสลับซับซ้อนมีความลาดชันสูง ชายฝั่งทางด้านตะวันออกส่วนมากจะเป็นหน้าผาสูงชันสลับกับอ่าวและหาดทรายโคลนทางด้านตะวันตกจะมีหน้าผา เฉพาะทางด้านเหนือบริเวณแหลมตันหยงมะระ (ด้านหัวเกาะ) มีพื้นราบและหุบเขาบ้างเล็กน้อย ที่ราบอยู่เป็นหย่อมๆ ทางเทือกเขาหลังอ่าว
	เกาะตะรุเตามีป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด มีพันธุ์ไม้นานาชนิด ได้แก่หลุมพอ ตะเคียนทอง ยางขาว ยางแดง จัดเป็นไม้ที่มีคุณภาพดีของภาคใต้ ป่าของอุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็นทั้งป่าดงดิบ ป่าผสมผลัดใบ ป่าเขาหินปูน ป่าชายหาด ป่าพรุ ป่าชายเลน ป่ารุ่นสอง และมีไม้แคระ ไม้พุ่ม บนเกาะมีสัตว์ป่า สัตว์เลื้อยคลาน นก พืช และสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปูปลา สัตว์น้ำจืดชุกชุม
	ภูเขาและป่าไม้ครอบคลุมพื้นที่ของเกาะเกือบหมด มีถ้ำมากมาย ที่มีชื่อเสียงได้แก่ถ้ำจระเข้ ตั้งอยู่ใกล้อ่าวพันเตมะละกา ถ้ำฤษีและถ้ำอื่นๆ รวมทั้งน้ำตก นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุต่างๆ หลายชนิด ภูเขาและป่าไม้บนเกาะตะรุเตาเป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธารสายสั้นๆ ลำธารเหล่านี้มีน้ำไหลผ่านตลอดปี ไม่เคยเหือดแห้งเพราะสภาพต้นน้ำยังอุดมสมบูรณ์ น้ำในลำธารใสจืดสนิทบริโภคได้ ลำธารเหล่านี้ไหลลงสู่ทะเลและอ่าวต่างๆ ซึ่งมีอยู่เรียงรายรอบเกาะ เช่น อ่าวพันเตมะละกา อ่าวสน อ่าวจาก อ่าวตะโละโต๊ะโป๊ะ อ่าวนกแก้ว อ่าวตะโละอุดัง อ่าวตะโละวาว อ่าวพันเตซูรัต อ่าวหินงาม อ่าวตาเพน
	จากที่มีจำนวนอ่าวเป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงเรียกเกาะนี้ว่า“ตะโละเตรา” ซึ่งเป็นภาษามลายูแปลว่า“อ่าวมาก” ภายหลังเพี้ยนเป็น“ตะรุเตา”
	อ่าวแต่ละแห่งมีสภาพธรรมชาติต่างกันเช่น บ้างมีหาดทรายขาวยาวเหยียดสุดลูกหูลุกตา บ้างก็เป็นโขดหินโตรกผาเว้าแหว่งลาดชัน ถ้าขึ้นไปบนยอดผาได้จะมองเห็นทิวทัศน์ได้ไกล บางอ่าวก็ดารดาษด้วยก้อนหินน้อยใหญ่เรียงรายแทนเม็ดทราย น่าจะเรียกว่าหาดหิน หินมีขนาดต่างๆ เป็นรูปก้อนกลม รูปไข่ทรงรี ผิวเรียบลื่นเป็นมัน สารพัดสีทั้งดำฟ้าน้ำตาลแดงหรือผสมผสานกันเป็นริ้วลายธรรมชาติที่สวยงามวิจิตรบรรจง. ซึ่งภายหลังมีการศึกษาและพบว่าหินในหมู่เกาะตะรุเตาเป็นหินที่เกิดในยุคแคมเบรียม (ประมาณ ๖๐๐ ล้านปี) พบซากดึกดำบรรพ์ในกลุ่มหินตะรุเตาซึ่งเชื่อว่าเป็นหินที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของ ประเทศไทย มีลักษณะเป็นหินทรายสีแดงจนถึงสีน้ำตาล หินดินดานสีแดงและหินดินดานปนหินทรายกลุ่มหินนี้พบมากทางภาคใต้ด้วยเหตุนี้พื้นที่เกาะตะรุเตาจึงถูกจัดให้อยู่ในเขตอุทยานธรณีโลกสตูล
	ชาวบ้านที่เกาะเล่าว่าเมื่อครั้งกระโน้นแม้ตะรุเตาจะเป็นเกาะกลางทะเลลึกแต่ก็มีวัวป่า ควายป่า หมูป่า แม้กระทั่งเสือลายพาดกลอน เสือดำ ลิงค่าง กระจง จระเข้ ให้นักนิยมไพรประลองฝีมือได้ทุกเวลา ส่วนทางด้านใต้สุดของเกาะก็มีรังนกคือ นกนางแอ่นอาศัยทำรังอยู่เป็นจำนวนมาก มีนายอากรผูกขาดเก็บรังนกเป็นรายได้สรรพากรอย่างหนึ่ง บริเวณเกาะน้ำลึกมากเป็นที่อาศัยของปลาตัวใหญ่ๆ และชุกชุมมากฉลามร้ายก็มักอาศัยอยู่บริเวณนี้แม้ปลาวาฬและโลมาก็มักจะโผล่ขึ้นบริเวณนี้เสมอ
	เมื่อก่อนชาวประมงที่มาลงอวนทำโป๊ะน้ำลึกบริเวณเกาะนี้ได้ปลาตัวใหญ่ๆ มากมาย แม้ชาวต่างประเทศจากปะลิสก็มักวกลำเข้ามาลักลอบจับปลาในบริเวณเกาะนี้มิได้ขาด ปลาบริเวณจึงนับเป็นสินในน้ำของชาติอันมีค่ามหาศาล เมื่อก่อนปลาจาระเม็ดตัวโตซึ่งอาจหาทานได้ที่นี่โดยไม่ต้องซื้อหา ในขณะที่วิ่งเรือในทะเลจะได้ปลาขนาดยาวเป็นวามารับประทานโดยมิได้ตั้งใจเลย ส่วนมากเป็นปลาอินทรีย์ซึ่งมีมากบริเวณนี้
	มีชาวประมงบางคนใช้วัตถุระเบิดเป็นเครื่องมือในการจับปลา เป็นวิธีจับปลาที่ลงทุนน้อยและง่ายมาก ซึ่งเป็นการทำลายฝูงปลานั่นคือเมื่อทิ้งระเบิดลงในน้ำที่แน่ใจว่ามีฝูงปลามาก ปลาตัวใดที่อยู่ในรัศมีระเบิดก็จะถึงแก่ความตายทันทีไม่ว่าปลาเล็กปลาใหญ่ เมื่อใกล้ตายมักลอยขึ้นมาเหนือพื้นน้ำแล้วผู้ระเบิดปลาก็จับเอาตามสบาย ปลาที่จับไม่ทันเมื่อตายสนิทก็จมลงสู่ก้นทะเลเป็นอาหารของฉลามต่อไป การกระทำเช่นนี้เป็นการทำลายเศรษฐกิจของประเทศอย่างร้ายแรงปลาอาจสูญพันธ์ไปอย่างรวดเร็วหรือไม่ก็หนีไปอยู่ที่อื่นยังเป็นการทำลายอาชีพของตนอีกด้วย ถึงแม้ว่าทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้มีอาชีพทางนี้มาลงโทษแล้วหลายต่อหลายรายแต่ก็ยังหาเข็ดหลาบไม่ บางรายที่จับไม่ได้ก็ถูกกรรมสนองคือถูกระเบิดที่ตนใช้ระเบิดฝูงปลาถึงตายหรือบาดเจ็บก็มี
	เกาะตะรุเตาต่างจากเกาะอื่นด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ถ้ามองจากแผ่นดินใหญ่ดูคล้ายกับว่าภูเขาโผล่ขึ้นมาเหนือทะเลเป็นแนวยาวเหยียดทีเดียว นั่นคือดูเหมือนแผ่นดินใหญ่ๆ ที่มีน้ำล้อมรอบ ถ้าเรายืนอยู่ทางฝั่งตะวันตกของสตูลมองตรงไปที่เกาะตะรุเตาจะเห็นเกาะตะรุเตาทอดยาวเหยียดขึ้นมาเหนือทะเลพาดจากเหนือไปทางใต้ สีดำทะมึนตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงิน ฉากหลังเป็นทิวเขาโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำจริงๆ และจะเห็นเกาะอีกเกาะหนึ่งอยู่ใกล้กันจนเหมือนต่อติดกันเหมือนเป็นเกาะเดียวกัน เกาะนั้นคือเกาะลังกาวีของมาเลเซียซึ่งอยู่ห่างกันราว ๕ กิโลเมตร แต่หากดูตามแผนที่ของจังหวัดสตูลจะมองเห็นเป็นเกาะใหญ่ที่สุดอยู่กลางทะเลอันดามันห่างจากฝั่งประมาณ ๔๐ กม. 
	พูดถึงเกาะลังกาวีในทางประวัติศาสตร์ เกาะลังกาวีเคยเป็นไทยมาก่อน ตั้งแต่สตูลยังมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งของไทรบุรี เมื่อมีฐานะเป็นเมืองแล้วก็อยู่ภายใต้การปกครองของเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่ทางปักษ์ใต้ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการปกครองหัวเมือง ร.ศ.๑๑๖ ตรงกับพ.ศ. ๒๔๔๐ ให้รวมเมืองสตูลขึ้นกับมณฑลไทรบุรี ล่วงมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ประเทศไทยถูกบีบคั้นทางการเมืองจากฝ่ายอังกฤษต้องยกรัฐกลันตัน ตรังกานู รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของมณฑลไทรบุรีและเมืองปะลิส ให้กับอังกฤษซึ่งปกครองเมืองมลายูอยู่ ส่วนพื้นที่ที่เป็นเมืองสตูลก็ให้ถือกำหนดแนวภูเขาเป็นพรมแดนโดยถือสันปันน้ำแบ่งเขตกับฝ่ายไทย ก็คือจังหวัดสตูลทุกวันนี้ ตั้งแต่นั้นมาเกาะตะรุเตาและเกาะลังกาวีสองพี่น้องต้องพลัดพรากจากกันไป
	เมื่อก่อนบริเวณอ่าวมะขามกับอ่าวตะโล๊ะอุดัง (ตะโล๊ะ ภาษามลายูแปลว่าอ่าว อุดัง แปลว่า กุ้ง) ทั้งสองอ่าวมีกระท่อมทับชาวประมงตั้งอยู่เรียงรายตามชายหาดสำหรับใช้เป็นที่พักแรมในฤดูจับปลา บนเกาะมีบ่อน้ำจืดและน้ำตกเล็กๆ ไม่ไกลจากอ่าวอุดังนักมีต้นมะพร้าว ต้นยางพารา มีที่ราบและน้ำจืดอยู่บนเกาะพอเพียงที่จะอยู่อาศัยได้ เดิมมีราษฎรอาศัยอยู่ประมาณ ๒๐๐ คนเศษ แบ่งการปกครองออกเป็น ๒ หมู่บ้าน ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๘๓ กรมราชทัณฑ์ได้ออกพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามเกาะตะรุเตาและตั้งเป็นนิคมฝึกอาชีพขึ้น พลเมืองที่อาศัยอยู่ในเกาะนี้จึงอพยพไปอยู่ที่อื่น
	เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เกาะตะรุเตาเริ่มมีพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้ายโดยกรมราชทัณฑ์ได้เลือกบรรดาเกาะต่างๆ ในประเทศไทย เห็นว่าเกาะตะรุเตาเป็นเกาะที่เหมาะสมเพราะตั้งอยู่ห่างไกลจากฝั่ง ป้องกันการหลบหนีและสามารถที่จะพัฒนาเกาะให้เจริญขึ้น ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๘๐ หลวงพิธานทัณฑภัยได้เป็นหัวหน้านำผู้คุมและนักโทษไปสำรวจบุกเบิกโดยไปขึ้นที่อ่าวตะโล๊ะอุดังและอ่าวตะโละวาว หลังจากเดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เกาะตะรุเตาก็แปรสภาพมาเป็น ทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาดและนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย
 
	พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๖ หน้า ๕๖๖ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ เมื่อปลาย ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดีกบฎบวรเดช (พ.ศ. ๒๔๗๖) และ กบฎนายสิบ (พ.ศ. ๒๔๗๘) จำนวน ๗๐ นายมายังเกาะตะรุเตาซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง โดยจำนวนนักโทษทั้งหมดมีราว ๓,๐๐๐คน
	ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๘ เกิดสงครามเอเชียบูรพาส่งผลให้เกาะตะรุเตาถูกตัดขาดออกจากแผ่นดินใหญ่เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ยาและเครื่องใช้ต่างๆ ต้นปีพ.ศ. ๒๔๘๗ ผู้คุมนักโทษได้ทำตัวเป็นโจรสลัดเข้าปล้นสะดมเรือบรรทุกสินค้าชาวไทยและต่างประเทศที่แล่นแผ่นไปมา เล่ากันต่อๆ มาว่าในกาลครั้งนั้นหลายชีวิตต้องสูญสิ้นเป็นเหยื่อสังเวยความเหี้ยมโหดทารุณของเหล่านักโทษผู้กระหายเลือดปล้นฆ่าถ่วงน้ำและฝังทั้งเป็นอย่างไร้ความปราณีไม่เว้นแต่ละวัน สลัดในน่านน้ำไทยครั้งนั้นไม่มีครั้งใดสยดสยองเท่าหลายศพที่ถูกฝังไว้ริมหาด เมื่อถึงหน้ามรสุม น้ำทะเลเซาะเอากะโหลกกองกระดูกขึ้นมาตั้งเกลื่อนกลาดเหมือนป่าช้า กล่าวกันว่ามีทองคำแท่งซึ่งสลัดปล้นมาได้ฝังไว้มากมาย บางแห่งมีผู้ไปพบโดยบังเอิญถึงกับร่ำรวยเป็นเศรษฐีก็มี โดยเหตุที่ไม่ไว้วางใจกันในระหว่างผู้ร่วมคิดจึงต่างคนต่างลอบฆ่าฟันกันเองเพื่อจะได้สมบัติที่ฝังไว้เป็นของตนแต่ผู้เดียว ในที่สุดก็ตายหมดและที่เหลือถูกจับกุมตัวไปบ้าง เสีย
ชีวิตในคุกบ้าง ถูกลอบฆ่าบ้าง ในที่สุดก็ไม่มีเหลือ ยังเล่ากันต่อมาอีกว่าในช่วง ปี พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๕๐๐ มีผู้มาขุดค้นขุมทรัพย์ตามลายแทง แต่ไม่ปรากฏว่าพบหรือไม่ เชื่อว่าสมบัติเหล่านี้ยังจมอยู่ใต้ดินที่เกาะนี้อีกเกินคณานับ
	เมื่อก่อนชาวสตูลที่เดินทางไปตามเกาะแก่งต่างๆ ต้องขึ้นเรือที่ท่าเรือเกาะนก เดินทางโดยเรือยนต์จากท่าเรือเกาะนก ตอนออกปากน้ำจะเห็นขุนเขาดำทะมึนน่าสะพรึงกลัวยืนจังก้าอยู่เบื้องหน้านั่นคือเกาะตะรุเตา คำเล่าลือเรื่องโจรสลัดทำให้จินตนาการเสมือนว่ามีอสูรคอยยืนจ้องรอตะครุบเหยื่ออยู่ นักเดินเรือล้วนหวาดกลัว แต่ท้ายสุดรัฐบาลไทยและทหารอังกฤษก็ได้เข้าปราบโจรสลัดเกาะตะรุเตาสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ และอีกสองปีต่อมากรมราชทัณฑ์ก็ยกเลิกนิคมฝึกอาชีพตะรุเตา ความหวาดกลัวก็เริ่มคลีคลายและค่อยๆ หายไปในที่สุด
	เหตุการณ์ร้ายๆ ราวตกอยู่ในนรกที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้คนได้ผ่านไป ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เหมือนพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสเพราะมีการประกาศให้เกาะตะรุเตาเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้จัดตั้งเกาะตะรุเตาเป็นสำนักงานอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืชนับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๘ ของประเทศไทย
	วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ อุทยานแห่งชาติตะรุเตาได้รับการประกาศจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนในฐานะพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญสูงที่เป็นตัวแทนระบบนิเวศของภูมิภาค
	และเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา UNESCO ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ให้พื้นที่แหล่งธรณีวิทยาของจังหวัดสตูลที่ครอบคลุมพื้นที่ ๔ อำเภอประกอบด้วยอำเภอมะนัง ละงู ทุ่งหว้าและบางส่วนของอำเภอเมืองคืออุทยานแห่งชาติตะรุเตาเป็นอุทยานธรณีโลก (Satun UNESCO Global Geopark) ซึ่งเป็นอุทยานธรณีระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทยและเป็นแหล่งที่ ๕ ของอาเซียน
	วันนี้ตะรุเตาเต็มไปด้วยเรื่องน่าค้นหา ยังคงหลงเหลือความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ไม่มีร่องรอยของชีวิตนักโทษเมื่อหลายสิบปีก่อนเหลืออยู่เลย 
	เริ่มจากอ่าวพันเตมะละกา เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ ตะรุเตา เป็นอ่าวที่มีพื้นที่ราบมากที่สุด หาดทรายขาวละเอียดทอดยาวสลับกับทิวสนทะเล มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติสวยงาม และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ถ้ำจระเข้ มีหินงอกหินย้อยและเสาหินสวยงาม จะนั่งเรือมาเที่ยวหรือพายเรือแคนูมาเที่ยวก็ได้ อ่าวจาก เป็นอ่าวเล็กๆ มีหาดทรายขาว เชื่อมกับอ่าวพันเตมะละกา อ่าวตะโละอุ สามารถดำน้ำชมปะการังหลากสีสันสวยงามได้อย่างปลอดภัย
	เกาะตะรุเตา ภายในพื้นที่ของที่ทำการอุทยานฯ ยังมีจุดชมทิวทัศน์ผาโต๊ะบู ด้านบนมีศาลาให้นั่งพักผ่อนและชมวิวอ่าวสวยหลากหลาย อ่าวสน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๘ กิโลเมตร เป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล อ่าวเมาะและเป็นหาดสวยที่บรรยากาศเงียบสงบมาก น้ำตกลูดู น้ำตกขนาดเล็กสวยงาม ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ ตต.๔ (อ่าวสน) ๓ กิโลเมตร น้ำตกโละโป้ะ เป็นน้ำตกที่เหมาะกับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ อ่าวมะขามเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ตต.๓ (อ่าวมะขาม) มีสัตว์ป่า และนกอาศัยอยู่มาก และอ่าวฤๅษี เป็นอ่าวเล็กๆ ที่เหมาะกับการดำน้ำตื้น อ่าวตะโละวาว อยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะตะรุเตา ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ๑๒ กิโลเมตร เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ที่ใช้เป็นสถานที่ตั้งนิคมฝึกอาชีพหรือทัณฑสถาน นักโทษเด็ดขาด นักโทษกักกัน ปัจจุบันเหลือแต่มูลดิน ซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้าง และสุสาน ๗๐๐ ศพ ปัจจุบันทางอุทยานแห่งชาติได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติและประวัติศาสตร์ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่สนใจ นอกจากนี้บริเวณอ่าวนี้ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ตต.๑ (ตะโละวาว) และสะพานท่าเทียบเรือ และอาคารบริการด้วย

	สภาพป่าบนตะรุเตามีไม้นานาพรรณ อาทิ หงอกค่าง ยางปาย ยางเสียน เคี่ยมคะนอง มังคาก หลุมพอ เสียดช่อ ตะเคียนหิน หมากนางลิง ระกำ ไพลดำ ข้าหลวงหลังลาย ลิ้นแรด เฟิร์นก้านดำ และเฟิร์นนาคราช รักขาว แคยอดดำ งิ้วป่า พลับดง ไทรย้อยใบทู่ ข่อย ส้มกบ สลัดไดป่า เปล้าน้ำเงิน เข็มขน เต่าร้างแดง แก้วหน้าม้า บุกหิน เปราะป่า เถาวัลย์ด้วน ขี้ไก่ย่าน เฟิร์นราชินี หญ้าข้าวป่า และ รองเท้านารีขาวสตูล เป็นต้น พันธุ์ไม้ที่ขึ้นบริเวณชายหาด มี เสม็ดชุน เสม็ดขาว วา จิกเล กระทิง หูกวาง สนทะเล ตีนเป็ดทะเล หว้าหิน โกงกางหูช้าง ปอทะเล โพทะเล รักทะเล พุทราทะเล กระแตไต่ไม้ ผักบุ้งทะเล ถั่วคล้าทะเล เกล็ดนาคราช พลับพลึง ปรงทะเล ชุมเห็ดเล และ ลำเจียก หรือ เตยทะเล เป็นต้น ที่ขึ้นบริเวณ ป่าพรุ ประกอบด้วย จิกนา จิกน้ำ ตีนเป็ดเล็ก เต่าร้างแดง หมากอาดัง กะลุมพี หญ้าสามคม กระจูด ผักแขยง กระถินนา หญ้าเข็ม ไส้ปลาไหล ผักเขียด ผักบุ้งไทย เป็นต้น บริเวณป่าชายเลนรอบเกาะมี เหงือกปลาหมอ ดอกม่วง ฝาด ขลู่ ตาตุ่มทะเล หลุมพอทะเล ตะบูนขาว เล็บมือนาง ถั่ว โกงกางหัวสุม โปรงขาว โกงกาง ลำพู ลำแพนทะเล แสม แสมขาว สำมะงา หวายลิง และจาก เป็นต้น นอกจากนี้มี ไม้แคระ ไม้พุ่ม ได้แก่ ปรงเขา ส้านใหญ่ ไกรทอง หรือ พิกุลทอง ชะแอง ขนหนอน ติ่งตั่ง หญ้าหนูต้น หญ้าหางนกยูง เอ็นอ้าน้อย และ เนียมนกเขา เป็นต้น ส่วน ป่ารุ่นสอง มีต้น ทุ้งฟ้า ตีนเป็ด กระทุ่ม ตอกใบใหญ่ ติ้วขาว หว้าเขา ชันยอด ตองแตบ เพกา มังตาน ตีนนก หนาดใหญ่ พลับพลา (พืช) ปอเต่าไห้ พุดน้ำ โคลงเคลงขี้นก ถอบแถบเครือ หมามุ่ย หญ้ายายเภา และ สาบเสือ เป็นต้น
	สัตว์ป่าที่พบมี หมูป่า กระจง ลิงแสม ค่างแว่นถิ่นใต้ นากใหญ่ขนเรียบ เม่นหางพวงใหญ่ อีเห็นข้างลาย หรือ อีเห็นธรรมดา บ่าง กระรอกบินแก้มสีแดง หนูท้องขาว และ ค้างคาวแวมไพร์แปลงเล็ก เป็นต้น สัตว์ปีกมีหลายชนิด ประกอบด้วย นกยางเขียว นกยางทะเล นกออก นกเด้าดิน นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล นกจาบคาหัวเขียว นกตะขาบดง นกแก็ก นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง นกแอ่นบ้าน นกปรอดคอลาย นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกเขียวคราม นกเด้าลมดง นกอีเสือสีน้ำตาล นกขุนทอง นกกินปลีอกเหลือง นกเอี้ยงถ้ำ เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน ก็มี ได้แก่ ตะกวด เหี้ย งูเหลือม งูจงอาง งูกะปะ งูเขียวตุ๊กแก งูเขียวหางไหม้ท้องเขียว งูพังกา หรือ งูเขียวหางไหม้ลายเสือ งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูเห่า งูปล้องทอง แย้ จิ้งจก ตุ๊กแกบ้าน จิ้งเหลน กิ้งก่า และเต่าหับ เป็นต้น และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ประกอบด้วย กบน้ำกร่อย กบภูเขา หรือ กบทูด กบหนอง อึ่งอ่างบ้าน ปาด เขียด คางคกบ้าน จงโคร่ง หรือ หมาน้ำ และ คางคกไฟ เป็นต้น
	สัตว์น้ำจืดที่อยู่บริเวณรอบๆ เกาะที่พอหาดูได้มี ตะพาบน้ำ ปลาซิวใบไผ่ ปลาซิวควาย ปลากระดี่นาง ปลากระทิงดำ ปลาเสือพ่นน้ำ ปลาหัวตะกั่ว ปลาดุกคางขาว หรือ ปลาดุกด้าน ปลาดุกลำพัน ปลาหมอ ปลาช่อน ปลาก้าง ปลากริมข้างลาย ปลาตูหนา หรือ ปลาไหลหูดำ หอยโข่ง หอยขม ปูน้ำตก กุ้งก้ามกราม กุ้งฝอย กุ้งน้ำตก เป็นต้น

	ทรัพยากรใต้ทะเล พืช และ สัตว์ที่พบ ได้แก่ สาหร่ายเห็ดหูหนู โลมาหัวขวดธรรมดา หรือ โลมาปากขวดธรรมดา โลมาหัวขวดมลายู โลมาหัวบาตรครีบหลัง เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า ปลากระเบน ปลาการ์ตูน ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ปลาสิงโต ปลาโนรี ปลากะรัง ปลาปักเป้า ปลาอมไข่ ปลาทราย หรือ ปลาช่อนทรายแก้ว ปลาเก๋า ปลาข้างเหลือง ปลากระบอกหัวสิ่ว ปลากะพงแดงหางปาน หรือ ปลากะพงแดงสั้นหางปาน ปลาเห็ดโคน ปลาสีกุนข้างเหลือง หรือ ปลาข้างเหลือง ปลาหางแข็งบั้ง ปลามงแซ่ หรือ ปลาสีกุนครีบยาว ปลาฉลามหนูใหญ่ ปลาตีน หอยทับทิม หอยตาวัว หอยมือผี หอยสังข์ปีก หอยเบี้ยจักจั่น หรือ หอยเบี้ย หอยมะระ หรือ หอยสังข์มะระ หอยเต้าปูน หอยมวนพลู หอยวงเวียน หอยปีกนก หอยมือเสือ หอยตลับ หอยเสียบ หอยทราย หอยขี้กา หอยเจดีย์ หอยแมลงภู่ หมึกกระดอง หมึกกล้วย ปูหิน ปูเสฉวน ปูลม ปูก้ามดาบ ปูแสม กั้ง กุ้งมังกร และ กุ้งนาง เป็นต้น
	ปะการังและสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่พบในอุทยานแห่งชาติทางทะเลได้แก่ ปะการังเขากวาง ปะการังโต๊ะ ปะการังโขด ปะการังรังผึ้ง ปะการังสมอง ปะการังดาวใหญ่ ปะการังดอกเห็ด ปะการัง บูมเมอแรง ปะการังกาแล็กซี่ ปะการังแผ่นเปลวไฟ ปะการังเคลือบหนาม ปะการังจาน ปะการังถ้วยสีส้ม ปะการังไฟ ปะการังสีน้ำเงิน ปะการังร่องหนาม ปะการังอ่อน กะละปังหา หรือ กัลปังหาดากทะเล ลิ่นทะเล เพรียงหัวหอม แมลงสาบทะเล หนอนตัวแบน ดาวทะเล หรือ ปลาดาว อีแปะทะเล ปลิงสายสะดือ พลับพลึงทะเล หอยเม่นหนามดำ หอยเม่นหนามลาย ทากดิน ตาลปัดทะเล แมงกะพรุน บัวทะเล ดาวเปราะ และ ดาวมงกุฎหนาม หรือ ปลาดาวหนาม เป็นต้น
	นอกจากนี้มีแมลงและสัตว์อื่นที่พบเห็นได้มี ผีเสื้อมรกตธรรมดา ผีเสื้อลายขีดเงินลายขอ ผีเสื้อสะพายขาวปีกโค้ง แมลงปอ หิ่งห้อย เห็บกวาง ตั๊กแตนตำข้าว จิงโจ้น้ำ บึ้ง มดตะนอย จักจั่น ปลวก มวน แมลงเต่าทอง หรือ ด้วงเต่าลาย ทาก ตะขาบ แมงมุม ไส้เดือนดิน และ กิ้งกือ เป็นต้น
	ด้วยบรรยากาศอันสงบ ตะรุเตาจึงเป็นเกาะที่เหมาะต่อการมาเที่ยวพักผ่อนอย่าง ทุกๆ ปี จังหวัดสตูลจัดกิจกรรม “วิ่งย้อนรอยประวัติศาสตร์เกาะตะรุเตา” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาย่ำเท้าสัมผัสธรรมชาติบนเกาะในตำนานเรื่องเล่าแดนคุก ได้ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ดำน้ำดูปะการัง ท่ามกลางความสดใสสวยงาม ดังคำขวัญของสตูลที่ว่า “สตูลสงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์”