ศาลเจ้าโปเจ้เก้ง

รายละเอียด

	ศาลเจ้าโป้เจ้เก้ง เป็นศาลเจ้าแห่งแรกของเมืองสตูล สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ นายลีกาอวดได้อัญเชิญพระโปเซ็งไต่เต่หรือไต่เต่เฮียจ้อ จากเกาะปีนัง มาเป็นองค์พระประธานจวบจนทุกวันนี้ คำว่าโปเจ้เก้ง เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน จำแนกคำได้ดังนี้ โป แปลว่า คุ้มครองรักษา เจ้ แปลว่า ข้ามพ้นทุกข์ เก้ง แปลว่า ศาลเจ้า ความหมายโดยองค์รวมคือ "ศาลเจ้าที่ช่วยคุ้มครองให้คนมีสุขแคล้วคลาดจากทุกข์ 
	กล่าวกันว่าคนจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองสตูลตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์หรือปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนใหญ่อพยพมาจากเกาะปีนัง เข้ามาประกอบอาชีพขายถ่าน และค้าขายในย่านชุมชนในเมืองสตูล มีชาวจีนฮกเกี้ยนกลุ่มใหญ่ ตั้งบ้านเรือนใกล้กัน หัวหน้ากลุ่มคือ"นายลีกาอวด" ร่วมกันตั้งศาลเจ้าจีนขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สมัยพระยาอภัยนุราช (ตนกูบินอับดุลเราะห์มาน) ศาลเจ้าหลังแรกตั้งอยู่ตรงบริเวณปากทางเข้าตลาดสดเทศบาลเมืองสตูล ตรงจุดเริ่มต้นถนนติรสถิตย์ ฝั่งตรงข้ามธนาคารกสิกรไทยสาขาสตูล บนถนนศุลกานุกูล ปัจจุบันนี้ย้ายมาตั้งบนถนนสมันตประดิษฐ์ เป็นที่ดินของนายลีกาอวด คหบดีผู้ใจบุญ (ขุนพูนพานิช ผู้เป็นต้นตระกูลพูนพานิชในจังหวัดสตูล)
	นอกจากนี้ศาลเจ้าโปเจ้เก้งยังเป็นที่รวบรวมตำรับยา ๑๐๔ สูตร ได้รับการเก็บรักษาอย่างดี ซึ่งชุมชนแรกเริ่มของชาวจีนในเมืองมำบังนคราตั้งอยู่ริมท่าเรือ ท่านี้เป็นท่าค้าขายถูกเรียกชื่อภายหลังว่าท่าเซ่งหิ้น ในช่วงที่กั่ว เซ่ง หิ้นเป็น “กปิตันจีนา” (Captain China =Kapitan Cina=หัวหน้าชาวจีน) ในสมัยพระยาภูมินารถภักดี หลัง พ.ศ. ๒๕๐๘ ถูกเรียกว่า”ท่าเหรียญทอง”ตามชื่อโรงแรมเหรียญทองที่เพิ่งสร้างใหม่ยามนั้น 
	ชุมชนจีนตั้งอยู่บนที่ดอนแคบๆ ท่ามกลางพื้นที่ชุ่มน้ำ บ้านเรือนส่วนใหญ่ถูกปลูกสร้างด้วยไม้กลมฝาเป็นไม้ไผ่สานที่เรียกว่าฝาขัดแตะ หลังคามุงจาก เมื่อมีชุมชนจีนก็ต้องมีศาลเจ้าเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เนื่องจากเวลานั้นสตูลเป็นเมืองเล็กๆ ไม่มีบริการทางการแพทย์ใดๆ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่มีหมอรักษา ชาวจีนจึงตั้งศาลเจ้าเพื่อบูชาเทพเจ้าที่เป็น”แพทย์”เพื่อช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของตนโปเซ่งไต่เต่เป็นเทพที่เคยเป็นมนุษย์และเป็นแพทย์เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เกิดในสมัยฮ่องเต้ซ่งไท่จงตาย 
	สมัยซ่งเจินจงแห่ง ราชวงศ์ซ่งเหนือ (พ.ศ.๑๕๒๒ – ๑๕๗๙) โปเซ่งไต่เต่ ชาวเมืองจ่วนจิว มณฑลฝูเจี้ยน ได้ชื่อว่าเป็นหมอเทวดา มีชื่อเมื่อแรกเกิดว่า “หงอเทา” ร่ำเรียนวิชาจับชีพจรและการรักษาวิชาแพทย์แผนจีนจากอาจารย์ซึ่งมีตำรับยาจีนสืบต่อๆ กันมานานนับร้อยปี ทำการรักษาผู้คนจนมีชื่อเสียงเลื่องลือ ครั้งหนึ่งพระมารดาของฮ่องเต้ซ่งเจินจงประชวร ให้มหาดเล็กมาตามไปรักษาพระอาการ หงอเทาไม่สามารถจับชีพจรของพระราชชนนีได้ด้วยกฎมณเฑียรบาล จึงต้องใช้เส้นด้ายโยงจากมือคนไข้มายังมือของหมอ ขันทีแกล้งโยงเส้นด้ายผูกกับขาโต๊ะเพื่อลองวิชา หงอเทาก็รู้ หมอหงอเทาสามารถรักษาจนพระ
อาการทุเลาลงทันที ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว

	หงอเทาเสียชีวิตในวัย ๕๙ ปี ขณะปีนเขาไปเก็บตัวยาสมุนไพรต่างๆ มาใช้รักษาผู้คน ชาวบ้านจึงสร้างศาลไว้สักการะบูชา ต่อมาได้กลายเป็นตำนาน ผู้คนเชื่อว่าท่านจุติไปเป็นเทพมีนามว่า “หงอจินหยิน”และ  “โปเซ่งไต่เต่” เพื่อโปรดสัตว์รักษาคนเจ็บไข้ให้หายป่วย ชาวจีนจึงสร้างศาลเจ้าขนาดเล็กหลังคามุงจากตั้งอยู่ที่ท่าเซ่งหิ้น ตรงจุดซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมเหรียญทองในปัจจุบัน ที่นี่มีตำรับยาของหงอจินหยินที่สืบทอดมานานนับพันปีถึง ๑๐๔ ตำรับ ไว้ให้ผู้คนที่สนใจไว้มาศึกษากันอย่างแพร่หลาย