มัสยิดมำบัง

รายละเอียด

	มัสยิดมำบัง ตั้งสง่าโดดเด่นด้วยหอคอยเป็นยอดโดมสูงสีทอง มัสยิดมำบังเป็นมัสยิดกลางตัวเมืองสตูล เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาเป็นศูนย์รวมในการปฏิบัติศาสนกิจของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดสตูล หอคอย หรือหออาซาน ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของมัสยิด ซึ่งแต่เดิมไว้ใช้ตะโกนบอกให้มุสลิมละหมาด มัสยิดมำบัง มีชื่อเดิมว่า "มัสยิดเตองะห์" หรือ "มัสยิดอากีบี" ได้สร้างในสมัยเจ้าเมืองสตูลคนแรก (ตนกูมูฮัมหมัดอาเก็บ) ซึ่งได้รับราชทินนามเป็นพระยาอภัยนุราช และพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ โดยรัชกาลที่ ๓ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองของสตูลคนแรกซึ่งเจ้าเมืองสตูลได้ปรึกษากับหวันโอมาร์ บิน หวันซาดี และข้าราชการ ให้สร้างมัสยิดถาวรขึ้น ได้ช่างผู้เขียนแบบแปลนมาจากเมืองมะละกา ซึ่งได้เงินทุนการก่อสร้างจากการขายเรือมาด (ตีเมาซูด๊ะห์) นำไปขายที่เมืองไทรบุรี เพื่อซื้ออิฐ กระเบื้องลูกฟูกมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น และขนกลับก่อสร้างที่สตูล ซึ่งใช้เวลาหลายปี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้รื้อและจัดสร้างใหม่ รูปทรงมัสยิดเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสด็จเปิดเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕ 
	ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของมัสยิดมำบังแห่งนี้คือ มีโดมเดียวรูปคล้ายบัวตูมหรือ "เรือ" ในหมากรุกไทยบนยอดโดมมีสัญลักษณ์ดาวและพระจันทร์เสี้ยวแสดงถึงสัญลักษณ์การเผยแพร่ศาสนาอิสลาม เป็นทรงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่โดดเด่นสวยงามสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ๓ ชั้นโดยชั้นใต้ดิน ๑ ชั้นใช้เป็นห้องประชุมและห้องสมุดชั้นกลางใช้ละหมาดปูนพื้นด้วยหินขัดผนังก่ออิฐถือปูนสลับกับอิฐโปร่งสีน้ำตาลเพื่อระบายอากาศแล้วตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบส่วนหลังคาเทคอนกรีตปูด้วยกระเบื้องดินเผาตัวโดมมีลักษณะเป็นเฟือง ๘ เฟืองประดับกระจกสีทองจากอิตาลี ซึ่งออกแบบโดยนายจริญ ลิ่มสกุล สถาปนิกชื่อดังของภาคใต้ (เริ่มก่อสร้างราวปี พ.ศ. ๒๕๒๒) ที่ได้แรงบัลดาลใจและศึกษางานออกแบบมัสยิดทั้งที่ตะวันออกกลางและมาเลเซียหลายแห่ง ในที่สุดก็ได้แบบมัสยิดมำบังเป็นมัสยิดไร้กาลเวลา เพราะมันสวยสง่างามอยู่เสมอ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ตอนสร้างเสร็จใหม่ๆ สวยทันสมัยอย่างไร ผ่านไป ๓๘ ปี ก็ยังสวยทันสมัยอยู่อย่างนั้น