เอื้องเม็ดดุม / -

ถ้าไม่ออกดอกจะดูแทบไม่ออกเลยว่าเป็นกล้วยไม้ จะเห็นเป็นเม็ดสีเขียวแบนๆ ติดเป็นแพตามผิวเปลือกไม้ เป็นกลุ่มกล้วยไม้แปลกขนาดจิ๋วที่มีต้นและดอกขนาดเล็ก ที่หาดูได้ยากในธรรมชาติ ช่วงออกดอกจะทิ้งใบเห็นเป็นดอกที่มีลักษณะเป็นหลอดสั้นโค้ง จินตนาการเหมือนกับลูกนกชูคออ้าปากโผล่ออกมาจากรัง สร้างความน่าทึ่งกับผู้พบเห็น ประวัติการค้นพบ: เดิมในปี ค.ศ. 1883 ถูกตั้งชื่อว่า Eria elwesii โดย Heinrich Gustav Reichenbach ต่อมาในปี ค.ศ. 1908 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น Porpax elwesii โดย Robert Allen Rolfe ที่มาชื่อไทย: ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:กล้วยไม้ขนาดเล็ก อิงอาศัยหรือขึ้นบนพื้นดิน ลำลูกกล้วยออกหนาแน่น รูปกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 0.5-1 ซม. กาบหุ้มลำลูกกล้วยมีเส้นใยนูนตามยาว ใบรูปรีแคบ ยาวได้ถึง 2.5 ซม. ก้านใบสั้น ผลิใบหลังออกดอก มี 2 ใบ ช่อดอกมีดอกเดียว ออกจากปลายลำลูกกล้วย ใบประดับรูปรี ปลายแหลม ติดที่โคนดอกหุ้มรังไข่ ยาวประมาณกึ่งหนึ่งของหลอดกลีบเลี้ยง ดอกสีน้ำตาลแดง กลีบเลี้ยงเชื่อมติดเกือบตลอดแนวยาว ปลายแฉกยาวประมาณ 1 มม. มีติ่งแหลม กลีบดอกขนาดเล็กอยู่ภายในหลอดกลีบเลี้ยง กลีบรูปใบพาย ยาว 4.5-5.5 มม. ขอบเรียบหรือจักไม่เป็นระเบียบ เกลี้ยง กลีบปากสั้น ปลายจักตื้น ๆ 3 พู ไม่ชัดเจน เส้าเกสรสั้น คางยาวกว่าเส้าเกสรประมาณ 2 เท่า โคนมีสันนูน กลุ่มเรณู 8 กลุ่ม แยกเป็น 2 กลุ่มย่อย มีแป้นเหนียวเชื่อม ก้านดอกและรังไข่สั้นกว่าใบประดับ มีขนสั้นนุ่ม นิเวศวิทยา: ขึ้นตามคบไม้ในป่าดิบชื้นและป่าดิบเขา ความสูงถึงประมาณ 1400 เมตร การกระจายพันธุ์: พบที่อินเดีย ภูฏาน พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมลายู ในไทยพบทางภาคตะวันออกที่เขาใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ที่ระนอง กระบี่ ข้อมูลชีววิทยาอื่นๆ: ดอกกับใบออกไม่พร้อมกัน ดอกออกกลางหัวเทียม ใบ 1 ใบ สถานภาพทางการอนุรักษ์: เอกสารอ้างอิง:(1) ชุมชนคนรักษ์พรรณไม้ - โพสต์ | Facebook


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Porpax elwesii (Rchb.f.) Rolfe

ชื่อท้องถิ่น = -

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง