กะพ้อ / Fan Palm

ใบกะพ้อ ใบไม้ที่ให้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของคนสตูล ทั้งชาวพุทธและมุสลิม ชาวพุทธนิยมทำขนมข้าวต้มใบกะพ้อ บ้างก็เรียกขนมต้ม หรือต้มใบพ้อ สำหรับนำไปประกอบงานบุญต่าง ๆ อาทิ งานออกพรรษา หรือเทศชักพระ ชาวบ้านจะนำขนมต้ม โยนใส่ในเรือพระ (เป็นประเพณี) เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ และแจกจ่ายให้แก่คนลากพระและเพื่อนบ้าน ซึ่งนับเป็นการทำบุญและทำทานไปในคราวเดียวกัน ในขณะที่พี่น้องชาวมุสลิมนิยมทำข้าวต้มใบกะพ้อ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ขนมปูตะ ในเทศกาลฮารีรายอเพื่อเฉลิมฉลองและแจกจ่าย โดยจะมีการทำตูปะในคืนสุดท้ายของการถือศีลอด และจะกินตูปะในช่วงวันฮารีรายอ วันตรุษอีดิลฟิตรี ถือเป็นวันสำคัญแห่งการเฉลิมฉลองการละศีลอดที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเป็นเวลาหนึ่งเดือนในเดือนรอมฎอน และในวันฮารีรายอ ผู้คนในหมู่บ้านจะมีการเดินทางไปเยี่ยมเยือนญาติผู้ใหญ่ และแจกจ่ายขนม และ อาหารต่าง ๆ ตามบ้านเรือนเพื่อนบ้านในหมู่บ้านเพื่อขอโทษและให้อภัยซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของคนในชุมชน สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจอยากลิ้มลองรสชาติของข้าวต้มใบกระพ้อหรือปูตะ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันออกพรรษา หรือวันชักพระ ไม่ต้องรอให้ถึงวันฮารีรายอ ก็สามารถรับประทานได้ โดยสามารถสั่งทำห่อสด ๆ นึ่งสด ๆ จะทานแบบจิ้มน้ำตาล นมข้นหวาน หรือรับประทานกับแกงตอแมะ ด้วยการอุดหนุนชุมชนที่เปิดรับทำตามสั่ง อาทิ การเรียนกลุ่มสาระ เรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โรงเรียนกำแพงวิทยา ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล ติดต่อที่ นายอธิวัฒน์ สันติเพชร ครูผู้ดูแลกลุ่มสาระฯ ที่เบอร์โทร 096-725-3141 (อ้างอิง ; 1. คณะอนุกรรมการประสานงานวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และไม้โตเร็วอเนกประสงค์. 2540. ไม้อเนกประสงค์ กินได้ 486 หน้า. / 2. เต็ม สมิตินันทน์. 2523. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรมป่าไม้ 379 หน้า. / 3. https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=plaipanpim&month=11-10-2010&group=15&gblog=13)


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Licuala spinosa Thunb.

ชื่อท้องถิ่น = กะพ้อ