มะเดื่อปล้อง

ต้น เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดกลางถึงใหญ่ มีความสูง 10 - 12 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกลำต้นเรียบหนา สีน้ำตาลหรือสีเทาปนดำ ตามลำต้นและกิ่งมีรอยเป็นข้อปล้องห่างๆชัดเจน กิ่งอ้วนสั้น กิ่งอ่อนและลำต้นอ่อนกลวง ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาวข้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบเป็นรูปรียาว รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 5-13 เซนติเมตร ยาว 11-28 เซนติเมตร ปลายใบมน มีติ่งแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักถี่ ๆ ตลอดใบ เนื้อใบคล้ายกระดาษ ผิวใบด้านบนมีขนสาก ใบด้านล่างมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ใบแก่และเส้นใบด้านล่างมีขนหยาบๆ เส้นใบข้างโค้ง 5-9 คู่ เส้นใบที่ฐานยาวประมาณ 1/5 ของใบ ก้านใบยาว 1.5-4 เซนติเมตร มีต่อมเป็นปม หูใบยาว 1-2.5 เซนติเมตร หลุดร่วงง่าย ดอก เป็นช่อดอกแบบช่อมะเดื่อ ออกตามลำต้นและกิ่ง หรืออาจพบออกดอกตามโคนต้น ตามกิ่งที่ห้อยลงไม่มีใบ และตามซอกใบ ดอกมี 3 ประเภท คือ ดอกเพศผู้ ดอกเพศเมีย และดอกสมบูรณ์เพศ ดอกย่อยมีขนาดเล็กอัดกันแน่น เจริญเติบโตอยู่ในฐานรองดอกที่ห่อหุ้มไว้เพื่อที่จะเจริญเติบโตไปเป็นผล ภายในกลวง ที่ปลายมีช่องเปิดที่มีใบประดับปิดอยู่ มีก้านช่อดอกยาว ดอกอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนดอกแก่เป็นสีเหลือง ที่โคนมีใบประดับรูปสามเหลี่ยม 3 ใบ ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร ดอกแบบแยกเพศ แต่อยู่ในช่อดอกเดียวกัน ดอกเพศผู้มีประมาณ 1-2 แถว กลีบรวมเชื่อมติดกันคล้ายปลอดหรือท่อสั้น ๆ เป็น 3-4 พู ที่ปลายมีขน เกสรเพศผู้มี 1 อัน ส่วนดอกเพศเมียมีหรือไม่มีก้าน และสมบูรณ์เพศไม่มีก้าน กลีบรวมปกคลุมรังไข่ ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึง-เดือนมีนาคม ผล เป็นผลแบบมะเดื่อ รูปทรงกลมออกแป้น รูปลูกข่าง ฐานแคบ ก้นผลมีรอยบุ๋ม มีเส้นสัน 7-9 เส้น แผ่รอบ ๆ จากยอด มีขนอ่อนนุ่ม และมีเกล็ดปกคลุมแบบห่าง ๆ ออกผลติดเป็นกลุ่มแน่นประมาณ 10-15 ผล ผลย่อยมีขนาด 2.5-4 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ มีจุดสีขาวตลอดทั้งผล ผลสดเป็นสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ก้านผลยาว 0.6-2.5 เซนติเมตร มีกาบรูปสามเหลี่ยม 3 กาบ เป็นช่อยาวตามแนวของกิ่ง ห้อยลงจากลำต้นและกิ่งใหญ่ ออกผลช่วงเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม สรรพคุณของมะเดื่อปล้อง ผล รักษาโรคโลหิตจาง เป็นยาแก้ไข้ แก้ปวดกระเพาะ รักษาริดสีดวงทวาร แก้โรคผิวหนัง รักษาแผลในปาก ใช้ล้างและสมานแผล แก้บวมอักเสบ ใบ เป็นยาแก้ไข้ แก้ปัสสาสวะเป็นเลือด รักษาอาการม้ามโต รักษาแผลฝี แผลหนองอักเสบ เปลือก เป็นยาบำรุง ยาระบาย แก้มาลาเรีย รักษาสิวฝ้า แก้ผื่นคันตามผิวหนัง ราก เป็นยากล่อมเสมหะ เป็นยาแก้ประดง แก้ท้องเสีย แก้พิษในกระดูก ลำต้น เป็นยาแก้หวัด แก้โรคกระดูก เป็นยากระตุ้นการหลั่งน้ำนม การใช้ประโยชน์ของมะเดื่อปล้อง ผลดิบและใบอ่อน ใช้ประกอบอาหาร เปลือกต้นใช้ทำเชือก และเนื้อไม้ใช้ทำฝืน


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Ficus obpyramidata King

ชื่อท้องถิ่น = เดือยปล้อง

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง