ไคร้ย้อย / Blue Olive Berry, Fairy Petticoats, Lily of the valley

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ต้น เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-30 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดแผ่กว้า งพุ่มใบทึบ แตกกิ่งต่ำ กิ่งอ่อนเกลี้ยง เปลือกเรียบหรือหยาบเล็กน้อย เปลือกสีน้ำตาลปนเทา ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ ใบรูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง 1.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 7-19 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบแคบ ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปราย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ 6-19 เส้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว 0.5-4 เซนติเมตร ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจะ ออกดอกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกห้อยลง แต่ละช่อมี 8 – 16 ดอก ยาว 6-10 เซนติเมตร ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอกสีขาวอมเหลือง กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับมีขนประปรายทั้งสองด้าน โคนกลีบดอกด้านมีกลุ่มขนเรียงตัวเป็นสองแถว ปลายกลีบเป็นริ้วละเอียด รังไข่ป้อมมีขนสั้นคลุมแน่น ดอกบานเต็มที่กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ออกดอกตลอดปี ผล เป็นผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว สีเขียวอ่อน รูปทรงกระสวยหรือรูปรี กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร ผิวผลบางเรียบ เกลี้ยง มีเมล็ดรูปกระสวย ก้านผลยาว 2-6 เซนติเมตร สรรพคุณและการใช้ประโยชน์ของไคร้ย้อย ปลูกตามชายน้ำ เป็นไม้ป้องกันการพังทลายของดิน นอกจากนี้ผลยังสามารถเป็นอาหารของนกได้


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Elaeocarpus grandiflorus Sm.

ชื่อท้องถิ่น = กระดิ่งนางฟ้า (สตูล) กาบพร้าว (นราธิวาส), ไคร้ย้อย สารภีน้ำ (เชียงใหม่), จิก ดอกปีใหม่ (กาญจนบุรี), แต้วน้ำ (บุรีรัมภ์), ปูมปา (เลย), คล้ายสองหู ผีหน่าย (สุราษฎร์ธานี), มุ่นน้ำ (เพชรบุรี), อะโน (ปัตตานี)

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง