ตะบูนขาว

ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ บ้านท่าอ้อย ตำบลทุ่งหว้า จังหวัดสตูล หนึ่งในจุดทำกิจกรรมต้องห้ามพลาดบริเวณอุทยานธรณีโลกสตูล กลุ่มมัดย้อมเลือกใช้สีจากพืชชายเลน ที่ขึ้นตามธรรมชาติหาได้ง่ายในท้องถิ่น พืชหลักที่ถูกเลือกนำมาใช้เป็นตัวชูโรงของการทำกิจกรรมในกลุ่มมัดย้อมคือ “ต้นตะบูนขาว” ซึ่งส่วนของต้นตะบูนที่นำมาใช้ทำกิจกรรมคือ ผล วิธีการทำสีจากผลตะบูนทำได้ไม่ยาก บังราเฉด แดงงาม ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวท่าอ้อยเทศบาลตำบลทุ่งหว้า แสดงขั้นตอนการทำผ้ามัดย้อมโดยการนำชิ้นส่วนของผลตะบูนตากแห้งเพิ่มลงไปถังที่ตั้งน้ำเดือดและมีส่วนของเปลือกตะบูนอยู่แล้ว สีของเปลือกตะบูนที่เห็นจะออกไปในโทนสีส้ม จนเกือบน้ำตาล เมื่อมีแล้วขั้นตอนต่อไปเป็นการเตรียมผ้า และการทำลาย โดยผ้าที่บังเลือกใช้จะมีหลายเกรด สามารถเลือกได้ การทำลายผ้าเป็นจุดเด่นของกลุ่มมัดย้อมคือ ลวดลายจะเน้นทำให้สอดคล้องกับเรื่องราวความเป็นอุทยานธรณีโลกสตูล มีการทำลายก้นหอย ลายแอมโมไนท์ หรือไทโลไบต์ เป็นต้น ในการทำกิจกรรมบังราเฉดจะสาธิตการทำลายต่าง ๆ และจัดแจงให้นักท่องเที่ยวหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรมทำลายผ้าและย้อมด้วยตนเอง เป็นกิจกรรมที่สนุกและมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในทางสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา ผนวกกับทรัพยากรธรรมชาติ กับเรื่องราวร้อยเรียงในท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดอาชีพ และโอกาสในการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยชุมชน บังยังเสริมอีกว่าไม่มีบ้านไหนที่นี่ไม่รักป่าชายเลน เราหวง เพราะเราใช้ป่าชายเลนเป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ หากสนใจทำกิจกรรมศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาการใช้ฐานทรัพยากรชีวภาพในท้องถิ่น บริเวณเขตอุทยานธรณีโลกสตูล ทำกิจกรรม ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ บ้านท่าอ้อย สามารถติดต่อ บังราเฉด แดงงาม ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวท่าอ้อยเทศบาลตำบลทุ่งหว้า 08 3168 2434 (อ้างอิง : 1. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. "ตะบูนขาว". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [15 พ.ย. 2013]. 2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. "ตะบูนขาว". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [15 พ.ย. 2013]. 3. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. "ตะบูนขาว". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th. [15 พ.ย. 2013]. 4. ทัศนศึกษาออนไลน์. "พืชและสัตว์ที่พบในป่าชายเลน". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: fieldtrip.ipst.ac.th. [15 พ.ย. 2013].)


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Xylocarpus granatum J. Koenig

ชื่อท้องถิ่น = กระบูน กระบูนขาว ตะบูน ตะบูนขาว (ภาคกลาง, ภาคใต้), หยี่เหร่ (ภาคใต้), ตะบันขาว

หมายเหตุ = ต้น : จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ได้เร็ว ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้าง มีรูปร่างไม่แน่นอน เพราะลำต้นมักคดงอ ส่วนที่โคนต้นมีลักษณะเป็นพูพอน เปลือกต้นมีสีเทาหรือสีเทาอมขาว หรือเป็นสีน้ำตาลแดง เปลือกแตกล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ คล้ายกับเปลือกต้นตะแบก เป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย มักขึ้นปะปนอยู่กับพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลายชนิด เช่น หัวสุมดอกขาว ไม้พังกา ถั่วดำตาตุ่มทะเล และไม้โกงกางใบเล็ก / ใบ : มีใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่เรียงสลับกัน มีใบย่อยเรียงตรงข้ามอยู่ 2 คู่ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 4.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ปลายใบมน ส่วนโคนใบเรียวสอบ แผ่นใบมีลักษณะหนาและเปราะ ส่วนขอบใบโค้งลงและเป็นคลื่นเล็กน้อย ส่วนเส้นแขนงของใบมีอยู่ข้างละ 6-9 เส้น ก้านใบสั้นมีสีน้ำตาล ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร / ดอก : ดอกมีสีขาวอมเหลือง ส่งกลิ่นหอมในช่วงบ่ายถึงค่ำ ดอกออกรวมเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามซอกใบ กลีบเลี้ยงเป็นรูปสามเหลี่ยมสั้นมี 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน / ผล : ผลแห้งแตก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลแข็งมีสีน้ำตาล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15-20 เซนติเมตร หนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม ส่วนก้านผลยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร โดยตะบูนขาวและตะบูนดำจะมีร่องตามยาวของผล 4 แนว หรือแบ่งเป็น 4 พูเท่า ๆ กัน แต่ละผลมีเมล็ดประมาณ 4-17 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปเหลี่ยมโค้งนูนปลายแบบประสานเข้าเป็นรูปทรงกลม หนึ่งด้านกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร จะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ || สรรพคุณ/การใช้ประโยชน์ : เปลือก, เมล็ด ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ยาแก้อาการไอ หรือนำมาต้มเพื่อใช้เป็นน้ำยาล้างแผล อีกทั้ง ช่วยแก้อาการท้องร่วง ใช้เป็นยาแก้บิด เปลือก, ผล ช่วยแก้อหิวาต์ ผล แก้อหิวาตกโรค