จั่งซุ้ย : เสื้อกันฝนชาวเหมือง
แร่ดีบุกเป็นทรัพยากรหลักที่สำคัญมากที่สุดของภูเก็จมาไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ปี การขุดค้นหาแร่ดีบุกได้พัฒนาจากการเก็บหาแร่บนพื้นผิวดินไปเป็นเหมืองรู เหมืองแล่น เหมืองหาบ เหมืองสูบ เหมืองฉีดหรือเหมืองเรือขุด จนเป็นแพดูดแร่ในท้องทะเลที่ค่อนข้างลึก
ในช่วงที่เหมืองหาบกำลังเป็นที่นิยมเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา กรรมกรชาวจีนจำนวนมากได้เข้ามาภูเก็จเป็นกุลีเหมืองหาบได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบรรพชนภูเก็จ
ยกระนองและพังงาออกไปแล้ว ก็คงจะต้องเป็นภูเก็จที่มีฝนตกชุก ยิ่งเมื่อป่าไม้อุดมสมบูรณ์ไม่มีวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมอย่างปัจจุบัน ฝนภูเก็จจึงตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน กรรมกรเหมืองต้องกรากกรำฝนเป็นระยะยาวนาน จึงได้มีผู้คิดเสื้อกันฝนที่คงทนต่อการทำงานในเหมือง โดยใช้เส้นใยจากโคนกาบต้นชกที่ชาวบ้านเรียกว่า "รกชก" มาเย็บเป็นเสื้อกันฝน แล้วเรียกเสื้อกันฝนนี้ว่า จั่งซุ้ย มีใช้กันมากในเหมืองเขตอำเภอกะทู้
ลูกหลานที่เห็นคุณค่าได้เก็บรักษาจั่งซุ้ยไว้ และเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อคนอื่น ๆ จึงได้นำไปถวายวัดพระทองเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ จำนวน ๑ ชุด เป็น จั่งซุ้ย ที่มีความกว้างระหว่างปลายแขนซ้ายและขวาเท่ากับระยะคอถึงชายจั่งซุ้ยด้านล่างประมาณ ๓๖ นิ้ว พ่อท่านสุขุมวัดพระทองพระนักอนุรักษ์มรดกไทย ได้นำไปแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑ์วัดพระทอง สอบถามผู้เกี่ยวข้อง ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครเก็บรักษาไว้ได้สมบูรณ์เท่าจั่งซุ้ยในพิพิธภัณฑ์วัดพระทอง.