วัดเหมืองง่า

วัดเหมืองง่า
        วัดเหมืองง่า เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่งในตำบลเหมืองง่า ย้ายมาจากวัดเดิมที่อยู่ริมน้ำปิงห่าง(วัดป่าไม้แดง ในปัจจุบัน)สร้างขึ้นในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เป็นช่วงที่ล้านนาได้รับการฟื้นฟูบังเสื่อมโทรมเพราะตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่านาน ๒๑๖ ปี(๒๑๐๑-๒๓๑เรียกว่า “ฟื้นม่าน”ในสมัย พ.ศ.๒๓๒๕ พระเจ้ากาวิละได้ฟื้นม่านและได้เกณฑ์คนจากตอนบนของภูมิภาคที่มีวัฒนธรรมสายเดียวกันทั้งจากเชียงรุ่งสิบสองพันนา เชียงตุง และเชียงแสน ที่เรียกครั้งหลังว่า“คนยองย้ายแผ่นดิน”วัดเหมืองง่าได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๓๗๕ คราวกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอง ไทเขิน และเงี้ยว หรือไทใหญ่ ได้อพยพมาอยู่เมืองนครลำพูนอย่างมั่นคง ได้กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไป บางส่วนได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลเหมือง่า จึงได้สร้างวัดขึ้นไว้เป็นสถานที่บำเพ็ญบุญ คือวัดเหมืองง่าและวัดสถุ่ง(ร้าง)ในปัจจุบัน หลักฐานที่ปรากฏที่สามารถอ้างอิงได้ว่า วัดเหมืองง่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ไทอย่างหลากหลายคือ พระธาตุเจดีย์ ที่งานศิลปกรรมปรากฏรูปแบบ ทั้งคติความเชื่อแบบล้านนา รูปทรงและลวดลายที่ปรากฏเป็นลักษณะเฉพาะของไทใหญ่หรือเงี้ยว มีความผสมผสานกันอยู่ไม่น้อย เดิมชื่อ “วัดนางเหลียว”ด้วยความวิจิตรงดงามของพระพักตร์พระประธานในวิหาร พุทธศาสนิกชนที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา (โดยเฉพาะอุบาสิกา) เวลาเดินผ่านหน้าวัดนี้จะต้องเหลียวดู แล้วยกมือประนมไหว้ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในองค์พระประธานในวิหาร ต่อมาทางวัดได้เปลี่ยนชื่อใหม่โดยการปรึกษาพระเถระผู้ใหญ่และเจ้าหอคำผู้ครองนครลำพูน โดยตั้งชื่อวัดเสียใหม่ว่า “วัดเหมืองง่า”เพราะทำเลที่ตั้งหมู่บ้านและวัดมีลำเหมืองหลายสายได้มาบรรจบกันดูเป็น “ง่าม”หรือ “ง่า”ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดเหมืองง่า”
         วัดเหมืองง่า ตั้งอยู่เลขที่ ๑๗๔ หมู่ที่ ๒ ถนนลำพูน-เชียงใหม่ ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ๘๙ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๒๓๔๗ มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๑ แปลง คือที่ดินของวัดเหมืองง่า(ร้าง)เป็นวัดเหมืองง่าเดิมก่อนที่จะย้ายมาที่นี่ เนื้อที่ ๒ ไร่ ๒๕ ตารางวา