ชุมชนในความทรงจำ

     ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนราชดำเนินกลางทำให้พื้นที่ของตึกดินถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ต่อมาในปี 2526 ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ภายในชุมชน เกิดการย้ายออกไปอยู่นอกชุมชน ซึ่งก่อนที่จะมีชุมชนมัสยิดบ้านตึกเหมือนปัจจุบันนี้เดิมชาวบ้านได้มีอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์ นั้นก็คือ 
"ช่างฝีมือในชุมชน" 
     ในกลุ่มผู้อพยพโยกย้ายมาจากหัวเมืองทางใต้ในรัชกาลที่ 3 ส่วนหนึ่งเป็นช่างทองคำประดับเพชร ทับทิมหรือมรกต และถูกกำหนดให้เป็นช่างทองหลวงทำเครื่องทรงและเครื่องราชูปโภคถวายแด่รัชกาลที่ 3 แต่เมื่อปลายรัชกาลที่ 6 มีช่างฝรั่งชาวเยอรมันชื่อ "นายไกรซ์เล่อ" ตั้งร้านอยู่ที่แพร่งนรา นำเอาวิทยาการและวิธีการผลิตแบบใหม่ตามแบบตะวันตกเข้ามาตีตลาดช่างทองมุสลิมแบบเดิม เช่น การใช้เพชรลูกแทนเพชรซีก การฉลุลวดลายโปร่งเพราะเครื่องมือที่ใช้นั้นมีคุณภาพที่ดี เป็นต้น ทำให้ช่างทองเปลี่ยนวิธีการผลิตทำทองแบบดั้งเดิม หันไปใช้วิชาการทำทองแบบใหม่ เพราะฉะนั้นในการสืบทอดวิชาช่างทองมักจำกัดแค่คนในครอบครัว ทำให้ต้องฝึกฝนและใช้ความประณีตอย่างมาก แม้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญแต่ก็ต้องเลิกเพราะปัญหาทางด้านสายตา อีกทั้งมีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้คนภายในชุมชนไม่นิยมเป็นช่างทองอีกต่อไป