KhluibanlaosDocument.pdf


ขลุ่ยบ้านลาว

ขลุ่ยบ้านลาวเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ติดตัวมากับชาวลาวเวียงจันทร์ตั้งแต่ในสมัยธนบุรี ที่เข้ามายังประเทศไทยในฐานะเชลยศึก ชาวลาวได้เข้ามาพร้อมกับองค์ความรู้ในการทำขลุ่ย ในช่วงแรกได้เกิดการทำขลุ่ยขึ้นมาเพียงแค่การเล่นภายในกลุ่ม เพื่อเป็นการคลายความเหงาเมื่อคิดถึงบ้าน แต่ภายหลังมีการทำขายเพื่อเป็นการหาเลี้ยงชีพ และด้วยความที่ขลุ่ยบ้านลาวมีความเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องของการทำลวดลาย ทำให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องของดนตรีไทย และเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมนี้ให้คงอยู่สืบไป จึงได้ทำการรวบรวมและบันทึกข้อมูลเกี่ยวขลุ่ยบ้านลาว สำหรับผู้ที่สนใจในการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับองค์ความรู้นี้ให้มีความง่ายต่อการค้นหามากขึ้น

ขนาด

ยาว 45-48 cm. กว้าง 2-2.5 cm. ลักษณะแท่งตรง ภายในกลวง มีรูสำหรับลมผ่านเพื่อให้เกิดเสียง

ชื่อเจ้าของ

คุณนิตยา กลิ่นบุปผา

ประวัติวัตถุจัดแสดง

ขลุ่ยบ้านลาวเป็นขลุ่ยที่ถูกผลิตขึ้นภายในชุมชนบางไส้ไก่ ซึ่งชุมชนนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นในสมัยสมัยธนบุรี บรรพบุรุษของชุมชนเป็นชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ ในสมัยธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าให้ชาวบ้านที่ถูกต้อนมาจากเวียงจันทร์มาตั้งรกรากบริเวณคลองบางไส้ไก่ และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยกทัพไปปราบกบฏลาวในปี พ.ศ. 2369 ได้กวาดต้อนเชลยและไพร่ที่เป็นชาวลาว เข้ามาประเทศไทย โดยส่วนหนึ่งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี อีกส่วนหนึ่งให้อยู่แถวคลองบางไส้ไก่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงชุบเลี้ยงบ่าวไพร่ที่เป็นชาวลาว เป็นจำนวนมากไว้ในวังของพระองค์ เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดการขับร้องแอ่วเพลงลาวและเป่าแคนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้คนไทยได้รับอิทธิพลเป่าแคนกันมากขึ้นและละทิ้งการละเล่นดนตรีไทย ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่าดนตรีของลาวจะมีอิทธิพลเหนือดนตรีไทย ต่อมาจึงได้ออกประกาศห้ามมิให้มีการเล่นเพลง เป่าแคน ชาวบ้านบางไส้ไก่จึงได้หันมาทำขลุ่ยแทนจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีเจ้านายสกุลสนิทวงศ์ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าสนิทพงษ์พัฒนเดชที่ประทับอยู่ริมคลองบางหลวงซึ่งอยู่ใกล้กับคลองบางไส้ไก่ พระองค์เจ้าสนิทพงษ์พัฒนเดชทรงโปรดดนตรีไทยเป็นอย่างมาก จึงได้ทรงประทานคำแนะนำการทำขลุ่ยให้กับชาวลาวบางไส้ไก่ ทำให้ขลุ่ยของบ้านลาวบางไส้ไก่นั้นมีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม และเป็นที่ต้องการของนักดนตรีในยุคนั้นอย่างแพร่หลายและต่อมาขลุ่ยของหมู่บ้านลาวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและแพร่หลายออกไปในวงการนักดนตรีไทยทำให้มีการขายเพิ่มขึ้นและคุณภาพที่ดีขึ้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน