ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปฏิบัติภารกิจทางด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ วิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ต่อมาได้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์ตามประกาศระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ. 2524 ตั้งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดยะลาไปพร้อม ๆ กันด้วย นับจากมีการใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2528 สถาบันราชภัฏยะลาเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีภารกิจหลัก 6 ประการ และหนึ่งในภารกิจดังกล่าวนั้น คือ การ “ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม”โดยมีชื่อประกาศจัดตั้งเป็น “สำนักศิลปวัฒนธรรม” และเมื่อได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2547 ภารกิจในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ในฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ โดยมุ่งเน้นด้านการวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริมเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติ ภารกิจดังกล่าว สำนักศิลปวัฒนธรรมจึงได้เปลี่ยนเป็น “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม” มีอาคารเฉพาะตั้งอยู่หน้าอาคาร 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาในปัจจุบัน ซึ่งได้เข้าอยู่ เป็นทางการเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2548 และในปีต่อมา ได้มีการปรับเปลี่ยนตามประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ประกอบกับ ประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เรื่อง การจัดโครงสร้าง การบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมจึงได้เข้ามาเป็นหน่วยงานหนึ่งของสถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ ตราบจนทุกวันนี้ ในปัจจุบัน ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ดำเนินการร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดยะลา และ หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น ซึ่งมีคณะกรรมการชุดเดียวกัน หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2527 ว่าด้วยหลักการของแผนพัฒนาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม โดยมุ่งเน้นพัฒนาวิธีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมให้เป็นระบบ และจัดตั้งหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการปรับชื่อ จากเดิมชื่อ หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น มาเป็น หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น มีทั้งหมด 75 จังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ตั้งอยู่ที่โรงเรียน 42 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 30 แห่ง และสถาบันการพลศึกษา 3 แห่ง จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม รวมทั้ง เป็นหน่วยงานดูแลและตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น