ข่าวและกิจกรรม

U2T for BCG ตำบลเวียงเหนือ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์

เมื่อวันอังคารที่ 7 มีนาคม 2566 อาจารย์ ดร.ชรัญรักษ์ ปัญญามูลวงษา พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.สุธิดา พลชำนิ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เขตพื้นที่ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ โดยได้รับเกียรติจาก คุณณัฐพล ฉัตรยาลักษณ์ กรรมการผู้บริหารบริษัทปาล์มสตูดิโอ จำกัด เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการยกระดับผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานเวียงเหนือให้ได้มาตรฐาน พัฒนาอัตลักษณ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย คุณรตนพร แก้วคำ ประธานกลุ่มนุ่งซิ่นปากั๋นแอ่ววิถีอัตลักษณ์ล้านนา วิทยากรแนวคิดการวิเคราะห์ทางการตลาดสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ชุมชน ณ เอื้องคำรีสอร์ท ลำปาง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานเวียงเหนือ กลุ่มนุ่งซิ่นปากั๋นแอ่ววิถีอัตลักษณ์ล้านนา ผู้ประกอบการกระเป๋าสานเวียงเหนือ พร้อมด้วยตัวแทนชุมชนที่สนใจ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ผลักดันผลิตภัณฑ์ออกสู่การตลาดผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับตำบล ในโอกาสนี้ U2T for BCG ตำบลเวียงเหนือ ได้มอบหนังสือเล่มเล็ก “ทริปแบกกล้องท่องเมืองเก่า” ให้กับทางเอื้องคำรีสอร์ท ลำปาง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของตำบลเวียงเหนือต่อไป



U2T for BCG ต.เวียงเหนือ เข้าร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐิน ประจำปี 2565 พร้อมรับของที่ระลึก และถวายผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานเวียงเหนือลวดลายละกอนไส้หมู



วันที่ 23 ตุลาคม 2565 เวลา 14.30 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ โปรดให้หม่อมหลวงสราลี กิติยากร เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระกุศลถวายผ้าพระกฐิน ประจำปี 2565 ณ วัดปงสนุกเหนือ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เพื่อให้พุทธศาสนิกชน และผู้มีจิตศรัทธาร่วมเสด็จโดยพระราชกุศล เพื่อนำปัจจัยสมทบบูรณะซ่อมแซมพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป 
 ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิยดา เหล่มตระกูล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ผู้แทนคณะครุศาสตร์ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.ชรัญรักษ์ ปัญญามูลวงษา ผู้จัดการตำบลเวียงเหนือ อาจารย์ ดร.สุธิดา พลชำนิ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงาน U2T for BCG ตำบลเวียงเหนือ เข้าร่วมพิธีถวายผ้าพระกฐิน ประจำปี 2565 ณ วัดปงสนุกเหนือ เข้ารับของที่ระลึก พร้อมถวายผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานเวียงเหนือลวดลายละกอนไส้หมู ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดลำปางในโอกาสนี้ด้วย


U2T for BCG ต.เวียงเหนือ ส่งมอบผลิตภัณฑ์ลวดลายละกอนไส้หมู พร้อมมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้มีอุปการคุณ




เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 อาจารย์ ดร.ชรัญรักษ์ ปัญญามูลวงษา ผู้แทนคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และผู้จัดการตำบลเวียงเหนือ พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.สุธิดา พลชำนิ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และตัวแทนคณะทำงาน U2T for BCG ตำบลเวียงเหนือ ส่งมอบผลิตภัณฑ์ลวดลายละกอนไส้หมู โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ ดร.อนุกูล 
ศิริพันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรม อำเภอเมืองลำปาง และที่ปรึกษาโครงการ for BCG ตำบลเวียงเหนือ เป็นผู้รับมอบ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาต่อยอดงานพุทธศิลป์ลวดลายละกอนไส้หมูอันเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดลำปาง เป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของตำบลเวียงเหนือ ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง 

ในโอกาสนี้ ได้มีการมอบเกียรติบัตรให้กับผู้มีอุปการคุณที่สนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG ตำบลเวียงเหนือ ได้แก่ อาจารย์ ดร.อนุกูล ศิริพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิทยา พลวิฑูรย์ และคุณกรกช โอภาสสมุทรชัย เพื่อเป็นการขอบคุณที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์งานพุทธศิลป์ลวดลายละกอนไส้หมูให้คงอยู่สืบสานต่อไป



ปังอย่างต่อเนื่อง!! กับ “กระเป๋าสานเวียงเหนือ “ ลวดลายละกอนไส้หมู อัตลักษณ์ลำปาง


ถึงมือลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 2 ใบ สำหรับกระเป๋าสานเวียงเหนือ กระเป๋าสานกระจูด ผสมผสานด้วยลวดลายละกอนไส้หมูอัตลักษณ์ลำปาง งานผ้าทอ แบบฉบับลำปาง 



U2T for BCG ตำบลเวียงเหนือ ต้อนรับเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพโครงการ U2T for BCG ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ณ วัดนางเหลียว ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง



      เมื่อวันอังคาร ที่ 6 กันยายน 2565 อ.ดร.ชรัญรักษ์ ปัญญามูลวงษา ผู้จัดการตำบลเวียงเหนือ อ.ดร.สุธิดา พลชำนิ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดร.อนุกูล ศิริพันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมและที่ปรึกษาโครงการ อ.เมืองลำปาง รศ.ดร.อัมเรศ เนตาสิทธิ์ รองคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง คณะทำงาน U2T for BCG ต.เวียงเหนือ พร้อมด้วยตัวแทนจากกลุ่มนุ่งซินปากันแอ่ว ได้ต้อนรับ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และ คณะผู้บริหารในหลายภาคส่วน ในการลงพื้นที่เยี่ยมชมผลการดำเนินโครงการขับเคลื่อนและพัฒนาโครงการ U2T for BCG พื้นที่จังหวัดลำปาง  ณ วัดนางเหลียว ต.เวียงเหนือ จ.ลำปาง โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้มีการเยี่ยมชมนิทรรศการ การดำเนินโครงการ U2T for BCG  ต.เวียงเหนือ ทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 พร้อมรับฟัง การนำเสนอผลิตภัณฑ์จากการดำเนินโครงการของ U2T for BCG  ต.เวียงเหนือ ใน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้ แก่ 1. พานไม้ปิดทองละกอนไส้หมูเวียงเหนือ  2. กระเป๋าสานเวียงเหนือ 3. พู่นำโชคแผงคอม้า และสายห้อยคอละกอนไส้หมู  รวมถึง ห้องจัดแสดงวัตถุโบราณ วัดนางเหลียว ที่จัดแสดงเกี่ยวงานด้านพุทธศิลป์ ที่มีเรื่องราวและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดลำปาง นอกจากนี้ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ได้สอบถาม ให้คำแนะนำ และข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการ U2T for BCG ต.เวียงเหนือ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา ต่อยอดผลิตภัณฑ์ และดำเนินโครงการต่อไปในอนาคต



U2T for BCG ตำบลเวียงเหนือ ได้เข้าร่วมจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนจากโครงการ U2T for BCG ในงาน “กาดนั่งก้อม”

U2T for BCG ตำบลเวียงเหนือ ได้เข้าร่วมจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนจากโครงการ U2T for BCG ในงาน “กาดนั่งก้อม”

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 คณะทำงาน U2T for BCG ตำบลเวียงเหนือ ได้นำสินค้าผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนอย่างกระเป๋าสานเวียงเหนือ กระเป๋าสานกระจูด เเละสายห้อยกระเป๋า ลวดลายของงานพุทธศิลป์อย่างลายละกอนไส้หมูซึ่งเป็นลวดลายอันเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดลำปาง มาจำหน่าย ณ สวนสาธารณะหนองกระทิง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานงานพุทธศิลป์ให้เป็นที่รู้จักและคงอยู่คู่ชุมชนต่อไป ซึ่งบรรยากาศภายในงานได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากผู้คนที่มาเที่ยวภายในงาน



U2T for BCG ต.เวียงเหนือ รับผลิตภัณฑ์งานไม้แกะสลักลายละกอนไส้หมู พร้อมมอบเกียรติบัตรให้กับครูและนักเรียน “กลุ่มเสน่ห์ไม้ลายละกอนลำปาง”

U2T for BCG ต.เวียงเหนือ รับผลิตภัณฑ์งานไม้แกะสลักลายละกอนไส้หมู พร้อมมอบเกียรติบัตรให้กับครูและนักเรียน “กลุ่มเสน่ห์ไม้ลายละกอนลำปาง” โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง

เมื่อวันอังคาร ที่ 30 ธันวาคม 2565 อ.ดร.ชรัญรักษ์ ปัญญามูลวงษา ผู้แทนคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และผู้จัดการตำบลเวียงเหนือ พร้อมด้วยตัวแทนคณะทำงาน U2T for BCG ต.เวียงเหนือ รับผลิตภัณฑ์งานไม้แกะสลักละกอนไส้หมู ได้แก่ กรอบรูปไม้แกะสลักลายละกอนไส้หมู และที่รองจานไม้แกะสลักลายละกอนไส้หมู จากกลุ่มเสน่ห์ไม้ลายละกอนลำปาง โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา โดยการนำของ คุณครูเสกสรร กาวินชัย ณ โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โดยกลุ่มเสน่ห์ไม้ลายละกอนลำปาง โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านงานไม้แกะสลักเป็นอย่างดี U2T for BCG ต.เวียงเหนือ ได้เล็งเห็นความสำคัญของงานไม้แกะสลัก โดยมีแนวคิดในการพัฒนาและต่อยอดลวดลายละกอนไส้หมู อันเป็นลายอัตลักษณ์ของจังหวัดลำปาง ซึ่งปรากฏร่องรอยที่ชัดเจนในงานพุทธศิลป์ใน ต.เวียงเหนือ ผลจากความร่วมมือในครั้งนี้ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบงานไม้แกะสลักลวดลายละกอนไส้หมู ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์งานไม้แกะสลักที่มีลวดลายละกอนไส้หมูในลักษณะอื่นๆ ในอนาคต อันเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดการอนุรักษ์และสืบสานอัตลักษณ์ สิ่งที่มีคุณค่าในชุมชน ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ซึ่งในโอกาสดังกล่าวนี้ ได้มีการมอบเกียรติบัตรให้กับครูและนักเรียน “กลุ่มเสน่ห์ไม้ลายละกอนลำปาง” เพื่อเป็นการขอบคุณที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์งานพุทธศิลป์ลวดลายละกอนไส้หมูให้คงอยู่สืบสานต่อไป



U2T for BCG ต.เวียงเหนือ จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจลวดลายอัตลักษณ์ตำบลเวียงเหนือและการประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน

U2T for BCG ต.เวียงเหนือ จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจลวดลายอัตลักษณ์ตำบลเวียงเหนือและการประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2565 U2T for BCG ต.เวียงเหนือ นำโดย อ.ดร.ชรัญรักษ์ ปัญญามูลวงษา ผู้จัดการตำบล พร้อมด้วย อ.ดร.อดุลย์ ปัญญา และ อ.ดร.สุธิดา พลชำนิ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานและคณะทำงาน U2T for BCG ต.เวียงเหนือ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจลวดลายอัตลักษณ์ตำบลเวียงเหนือและการประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน ณ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ชั้น 3 ห้องผลิตสื่อ โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิทยา พลวิฑูรย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา อาจารย์ประจำหลักสูตรทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเช้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฟังบรรยายประวัติความเป็นมาของลวดลายล้านนา การประยุกต์ลวดลายในงานหัตถกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ ในช่วงบ่าย กิจกรรม Workshop เทคนิคการแกะลาย และการลงลักปิดทอง ผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ประกอบด้วย กลุ่มนุ่งซิ่นปากั่นแอ่ววิถีอัตลักษณ์ล้านนา คณะทำงาน U2T for BCG ต.เวียงเหนือ นักศึกษาโครงการวิศวกรสังคม นักศึกษาสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และนักศึกษาสาขาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง การเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเป็นแนวทางในการนำลวดลายงานพุทธศิลป์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อันเป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG) ของ ต.เวียงเหนือต่อไป



U2T ต.เวียงเหนือ จัดกิจกรรม “กลยุทธ์การตลาดออนไลน์และเทคนิคการถ่ายภาพสินค้าเพื่อประชาสัมพันธ์”

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 อาจารย์ ดร.ชรัญรักษ์ ปัญญามูลวงษา ผู้จัดการตำบลเวียงเหนือ พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.สุธิดา พลชำนิ คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และคณะทำงาน U2T for BCG ต.เวียงเหนือ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG จัดกิจกรรม

กลยุทธ์การตลาดออนไลน์และเทคนิคการถ่ายภาพสินค้าเพื่อประชาสัมพันธ์” ณ วัดปงสนุก ต.เวียงเหนือ

อ.เมือง จ.ลำปาง โดยในช่วงเช้าได้รับเกียรติจากคุณณัฐพล ฉัตรยาลักษณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปาล์ม สตูดิโอ จำกัด ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การตลาดออนไลน์เพื่อสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น เทคนิคและกิจกรรมฝึกปฏิบัติการเขียน Content marketing ในช่วงบ่ายได้รับเกียรติจาก อาจารย์สุริยา พลละคร

ที่ปรึกษาการตลาดให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค เทคนิคการถ่ายภาพสินค้าให้มีความน่าสนใจและการเล่าเรื่องราว สื่อสาร ผ่านภาพถ่าย ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วยประชาชนในตำบล คณะทำงาน U2T for BCG ต.เวียงเหนือ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง การเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเป็นแนวทางในการส่งเสริมการตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้าในชุมชน อันเป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมรากฐานหลังโควิด BCG (U2T for BCG) ของ ต.เวียงเหนือต่อไป



U2T ตำบลเวียงเหนือ ร่วมพิธีหล่อพิมพ์พระเจ้าเกสรดอกไม้พันดวง และลงพื้นที่ศึกษาลวดลายศิลปะต้นแบบดั้งเดิม

เมื่อวันพุธ ที่ 13 กรกฎาคม 2565 อาจารย์ ดร.ชรัญรักษ์ ปัญญามูลวงษา ผู้จัดการตำบลเวียงเหนือ และคณะทำงาน U2T ตำบลเวียงเหนือ ได้เข้าร่วมพิธีหล่อพิมพ์พระเจ้าเกสรดอกไม้พันดวง ณ วัดปงสนุก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยมีท่านธิติพร จินดาหลวง เป็นประธานในพิธี ภายในงานมีพิธีทางศาสนา สวดเจริญพุทธมนต์ และพิธีหล่อพิมพ์พระเจ้าเกสรดอกไม้พันดวง ซึ่งเป็นการสร้างอนุสาวรีย์สำหรับการกราบไหว้ สักการะบูชา ยึดเหนี่ยวจิตใจและการรำลึกถึงความดีเนื่องในวันเข้าพรรษา ซึ่งพิธีในครั้งนี้มีพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา มาร่วมภายในงานเป็นจำนวนมาก

ในช่วงบ่าย คณะทำงาน U2T ตำบลเวียงเหนือ ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาลวดลายอัตลักษณ์ในตำบลเวียงเหนือ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย เมืองมูล ได้ให้แนวคิดในการพัฒนาศิลปะต้นแบบโบราณวัตถุดั้งเดิมภายในพิพิธภัณฑ์วัดปงสนุกเหนือ เพื่อการต่อยอดสู่การเพิ่มมูลค่างานหัตถกรรมพื้นถิ่นในชุมชน จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมวัดประตูป่องเพื่อศึกษาลวดลายงานพุทธศิลป์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ อันเป็นการยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ตามแนวทางโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมรากฐานหลังโควิด BCG (U2T for BCG ) ต่อไป



ทีมงาน U2T ตำบลเวียงเหนือ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล U2T for BCG

เมื่อวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565 อาจารย์ ดร.ชรัญรักษ์ปัญญามูลวงษา ผู้จัดการตำบลเวียงเหนือ พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.สุธิดา พลชำนิ และคณะทำงาน U2T ตำบลเวียงเหนือ ได้ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และจัดเตรียมข้อมูลในการดำเนินงานสู่โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิด BCG (U2T for BCG)

การลงพื้นที่ในครั้งได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.อนุกูล ศิริพันธ์ (นักปราชญ์ท้องถิ่น) ให้แนวคิดในการพัฒนาศิลปะต้นแบบโบราณวัตถุดั้งเดิม การถอดแบบลวดลายโบราณวัตถุต่อยอดงานพุทธศิลป์สู่การเพิ่มมูลค่างานหัตถกรรมพื้นถิ่นในชุมชน ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าและสืบสานศิลปะวัฒนธรรมมิให้สูญหาย อีกทั้งยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ กระจายรายได้สู่ชุมชนของตำบลเวียงเหนือต่อไป