เรียนรู้เกษตรอินทรีย์บ้านดงเย็น

รายละเอียด

  

ชาวชุมชนรวมตัวกันในรูปวิสาหกิจชุมชนวนเกษตร เปิดให้บรรดานักท่องเที่ยวมาทำกิจกรรมปลูกผักอินทรีย์ เพาะเห็ดและต้นอ่อนทานตะวัน เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี เลี้ยงไปร้องเพลงไป ทำปุ๋ยขี้ไส้เดือน สนุกไปตามจังหวะ ความเชี่ยวชาญคนละอย่างสองอย่างจนเกิดเป็นชุดความรู้ที่นำไปใช้ได้จริง ยืดเส้นยืดสายเก็บผักสดจากสวนและลงมือเข้าครัว เคาะกระทะ โขลกน้ำพริก จัดสำรับอาหารพื้นบ้านสำหรับมื้อเที่ยง อิ่มหนำเสริมกำลังแล้ว ถกแขนเสื้อขึ้นให้พร้อมกับกิจกรรมสร้างคุณค่าให้ข้าวอินทรีย์และทำเต้าหู้โบราณ เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมและกิจกรรมน่ารักอย่างการทำยาดมหัวโต ใบหน้ายิ้มแย้มของชาวชุมชนแสนใจดี ได้เปลี่ยนหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่แสนจะธรรมดาให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เปี่ยมเสน่ห์ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ฐานเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ได้แก่ "ฐานเพาะเห็ด" ชมการสาธิตการเพาะเห็ด และฟังความรู้เกี่ยวกับการเพาะเห็ด ซึ่งมีส่วนผสม คือ ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเนื้ออ่อนจากภาคใต้ / รำ / ดีเกลือ / บลูไมค์ โดยรำเป็นหลักในการทำก้อนเชื้อ ถุงเชื้อเห็ดภูฐาน เสร็จแล้วนำไปเข้าตู้อบที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าเชื้อราที่ไม่ใช่เชื้อเห็ด จากนั้นนำไปพักไว้ 5 ชั่วโมง แล้วจึงนำมาหยอดเชื้อเห็ดได้

"ฐานเลี้ยงใส้เดือน" ชมการเลี้ยงใส้เดือน เป็นการเลี้ยงเพื่อมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ใส้เดือนพันธุ์จากอาฟริกาใต้ มาคลุกเคล้ากับมูลวัวนมที่ไม่ได้เกิดจากล้างคอกด้วยโซดาไฟ วางไว้ในที่ร่ม รดน้ำให้ชุ่ม 1-3 ครั้งต่อวัน เพื่อให้ใส้เดือนย่อยสลาย ใช้เวลาย่อยสลายราว 1 เดือนครึ่ง แล้วจึงนำมาร่อนเพื่อให้ได้ปุ๋ยมูลใส้เดือน

 "ฐานปลูกผักในตะกร้า" เป็นการเรียนรู้การปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้วัสดุเหลือใช้เช่นตระกร้า ยางรถยนต์หมดสภาพ มาปลูก ซึ่งคณะได้ร่วมกิจกรรม และปลูกผักด้วยตนเอง นับว่าเป็นฐานที่มีประโยชน์ โดยผู้เรียนรู้สามารถปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเองที่บ้านได้

 "ฐานเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี" เป็นการเลี้ยงไก่ในเล้า โดยให้กินอาหารจากธรรมชาติ ทั้งผักต่างๆ และอาหารเสริมจากธรรมชาติ รวมถึงการเปิดเพลงให้ไก่ฟัง ไก่ก็จะมีความสุข อารมณ์ดี ไข่ก็จะฟองใหญ่ด้วย

 "ฐานเพาะต้นอ่อนทานตะวัน" วิธีเพาะจะใช้กะบะ เพาะโดยมีส่วนผสมแกลบดำกับขุยมะพร้าวละเอียด ในอัตราส่วน 1 : 1 นำส่วนผสมที่คลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันมาเทใส่กะบะเพาะต้นอ่อนราวสามในสี่ส่วน แล้วนำเมล็ดทานตะวันมาโรยลงกะบะ กะให้พอดีอย่าให้หนาแน่นมาก จากนั้นนำส่วนผสมการเพาะมาโรยกลบเมล็ดทานตะวันอีกครั้ง รดน้ำ เช้า-เย็น 7 วันก็ได้ทานต้นอ่อนเมล็ดทานตะวันแล้ว

การท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีความหลากหลาย ทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ย ฯลฯ เป็นการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ จากจุดเริ่มต้นของชุมชนที่เป็นการทำเพื่อเลี้ยงชีพ กิน และใช้ ในชุมชน ต่อยอดมาเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างรายได้ให้ชุมชน นับว่าเป็นชุมชนที่น่ามาเที่ยว