ตุ้มหูทองคำ

รายละเอียด

  

ตุ้มหูทองคำ พบบริเวณริมสระน้ำภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ จัดแสดงห้องบรรพชนคนอู่ทอง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ตุ้มหู มีลักษณะเป็นห่วงกลม ส่วนบนเรียวเล็ก ส่วนล่างใหญ่และหนา สามารถถอดแยกออกจากกันได้เป็นสองส่วนเพื่อให้สะดวกต่อการสวมใส่ โดยประกอบยึดติดกันด้วยเดือยทรงกระบอกกลมบริเวณส่วนบน และสลักทรงสี่เหลี่ยมที่อยู่บริเวณส่วนล่าง ตุ้มหูรูปทรงเดียวกันนี้ แต่ทำจากตะกั่วหรือดีบุก พบเป็นจำนวนมากบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง มักหล่อขึ้นรูปจากแม่พิมพ์เป็นชิ้นเดียวไม่สามารถถอดแยกออกจากกันได้ มีการตกแต่งที่หลากหลาย ทั้งแบบเรียบ ฉลุลายโปร่ง ประดับด้วยปุ่มแหลม เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบตุ้มหูรูปแบบนี้ตามแหล่งโบราณสมัยทวารวดีอื่น ๆ เช่น เมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น ทั้งนี้มีการค้นพบแม่พิมพ์ตุ้มหูรูปทรงนี้ที่เมืองโบราณอู่ทอง และเมืองโบราณจันเสนด้วย หลักฐานการสวมใส่ตุ้มหูรูปแบบนี้ปรากฏในงานศิลปกรรมประเภทดินเผาและปูนปั้น ทั้งที่เป็นประติมากรรมบุคคลและภาพเล่าเรื่อง เช่น ประติมากรรมดินเผารูปสตรีประดับศาสนสถานและแผ่นดินเผาภาพบุคคลฟ้อนรำ จากเมืองโบราณอู่ทอง ภาพปูนปั้นรูปสตรีและนักดนตรีจากเมืองโบราณคูบัว จังหวัดราชบุรี เป็นต้น จากหลักฐานดังกล่าว สันนิษฐานว่า ผู้ที่สวมใส่ตุ้มหูรูปแบบนี้น่าจะเป็นบุคคลชั้นสูง เมื่อสวมใส่ทำให้ใบหูยาวลงจรดบ่าหรือไหปลาร้า เนื่องจากน้ำหนักของตุ้มหู ตุ้มหูทองคำชิ้นนี้ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 หรือประมาณ 1100 – 1300 ปีมาแล้ว เป็นโบราณวัตถุชิ้นพิเศษที่มีความโดดเด่นเนื่องจากผลิตด้วยทองคำซึ่งถือเป็นโลหะมีค่า แสดงถึงเทคนิคการผลิตที่ประณีตกว่าตุ้มหูรูปแบบเดียวกันชิ้นอื่น ๆ อันบ่งบอกถึงฝีมือและภูมิปัญญาของช่างทองสมัยทวารวดี นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของเมืองโบราณอู่ทองในช่วงเวลาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

สถานที่จัดแสดง : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง