แม่พิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ

รายละเอียด

แม่พิมพ์ดินเผาภาพพระพุทธรูปปางสมาธิแวดล้อมด้วยเครื่องสูง สมัยทวารวดีจัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทองแม่พิมพ์ดินเผา ขนาดกว้าง ๙ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑๑ เซนติเมตร เป็นภาพพระพุทธรูปปางสมาธิที่เว้าลึกลงไป สำหรับสร้าง “พระพิมพ์” โดยการนำดินเหนียวซึ่งน่าจะเป็นส่วนผสมหลัก มากดประทับลงไป เพื่อให้ปรากฏเป็นภาพนูนต่ำบนแผ่นดินดิบนั้น ภาพที่ได้จะสลับด้านซ้ายและขวากับแม่พิมพ์ แล้วจึงนำไปเผาให้มีเนื้อแกร่งขึ้น เรียกว่า “พระพิมพ์ดินเผา” ทั้งนี้แม่พิมพ์ทำให้สามารถสร้างพระพิมพ์ที่มีรูปแบบเดียวกันได้ในปริมาณมาก ตามคติความเชื่อเรื่องการสร้างพระพิมพ์จำนวนมากเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา หรือเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาตามคติความเชื่อเรื่องการสร้างบุญกุศลแม่พิมพ์ชิ้นนี้มีสภาพไม่สมบูรณ์ส่วนบนชำรุดหักหายไปบางส่วน จากการศึกษาเปรียบเทียบกับพระพิมพ์สมัยทวารวดีที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันพบว่า แม่พิมพ์นี้หากมีสภาพสมบูรณ์จะเป็นภาพพระพุทธรูปปางสมาธิ มีอุษณีษะเป็นกะเปาะสูง เม็ดพระศกใหญ่ พระพักตร์กลม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาว พระศอเป็นปล้อง ครองจีวรห่มเฉียง ปลายสังฆาฏิสั้นพาดพระอังสาซ้าย พระหัตถ์ประสานกันบนพระเพลาในท่าสมาธิ นั่งขัดสมาธิราบ บนบัลลังก์เหลี่ยมมีพนักพิง มีประภามณฑลประดับด้วยเปลวไฟรอบพระเศียร มีเครื่องสูง ๕ ตำแหน่งได้แก่ เหนือพระเศียรมีฉัตร ๑ คัน ข้างพระวรกายด้านซ้ายขวาในระดับพระเศียรมีบังแทรกหรือบังสูรย์ ๒ คัน ถัดลงมามีจามร ๒ คัน ด้านหลังมีกิ่งโพธิ์ พระพิมพ์ที่เกิดจากการกดประทับแม่พิมพ์รูปแบบนี้ เป็นรูปแบบหนึ่งที่พบแพร่หลายในวัฒนธรรมทวารวดี โดยเฉพาะในเมืองโบราณอู่ทอง เช่น โบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ เมืองโบราณอู่ทอง พบพระพิมพ์ดินเผารูปแบบนี้จำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีพระพิมพ์ ๑ องค์มีจารึกด้านหลังพระพิมพ์ระบุนามผู้สร้าง เป็นอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญโบราณ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นต้นไป ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียแบบปาละดังกล่าวข้างต้นนอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์รูปแบบนี้ตามเมืองโบราณสมัยทวารวดีทั้งทางภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่น โบราณสถานวัดพระเมรุและวัดพระงาม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นต้น แสดงถึงความแพร่หลายและการติดต่อสัมพันธ์กันของผู้คนจากเมืองโบราณในสมัยทวารวดีแต่ละแห่งที่อยู่ห่างไกลกันเมื่อราวพันกว่าปีมาแล้ว

ที่จัดแสดง : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง