แม่พิมพ์เครื่องประดับสมัยทวารวดี

รายละเอียด

แม่พิมพ์เครื่องประดับ พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง จัดแสดง ณ ห้องอู่ทองศรีทวารวดี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง แม่พิมพ์ เป็นแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุมล่างซ้ายชำรุดหักหายไป บนผิวหน้าแกะลึกลงไปในเนื้อหินเป็นรูปตุ้มหูแบบห่วงกลม ๒ พิมพ์ เรียงคู่กัน โดยทั้ง ๒ พิมพ์ มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือใช้สำหรับหล่อตุ้มหูแบบห่วงกลม ที่มีส่วนบนเรียวเล็ก ส่วนล่างใหญ่และหนา ปลายส่วนล่างไม่ติดกัน แม่พิมพ์ตุ้มหูด้านซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าและตื้นกว่าพิมพ์ด้านขวา ด้านบนของแม่พิมพ์ทั้งสองมีร่องสำหรับเทน้ำโลหะ ที่มุมบนซ้ายและล่างขวาเจาะรูกลม ผิวด้านหลังของแผ่นแม่พิมพ์แบนเรียบ แม่พิมพ์มีลักษณะเป็นแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนล่างชำรุดหักหายไป บนผิวหน้าแกะเป็นพิมพ์สำหรับหล่อตุ้มหูทรงห่วงกลม ๒ พิมพ์ เรียงคู่กัน พิมพ์ด้านซ้ายค่อนข้างตื้น ส่วนล่างหักหายไปแต่สันนิษฐานว่าเป็นพิมพ์สำหรับหล่อตุ้มหูแบบห่วงกลม ส่วนบนเรียวเล็ก ส่วนล่างใหญ่กว่า ปลายส่วนล่างไม่ติดกัน ผิวด้านในตกแต่งลวดลาย พิมพ์ด้านขวาลึกกว่าด้านซ้าย เป็นพิมพ์สำหรับหล่อตุ้มหูแบบห่วงกลม ส่วนบนเรียวเล็ก ส่วนล่างใหญ่และหนา ปลายส่วนล่างไม่ติดกัน ด้านบนของพิมพ์ตุ้มหูทั้งสองมีร่องสำหรับเทน้ำโลหะ ที่มุมบนขวาเจาะรูกลม ผิวด้านหลังของแผ่นแม่พิมพ์หินแบนเรียบสันนิษฐานว่าแม่พิมพ์ทั้ง ๒ ชิ้นนี้ เป็นแม่พิมพ์แบบประกบ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่แม่พิมพ์ชุดเดียวกัน แต่สันนิษฐานว่ารูกลมที่เจาะทะลุบริเวณมุมของแผ่นแม่พิมพ์หินทั้งสองชิ้นนี้ น่าจะมีไว้สำหรับร้อยเชือก เส้นลวดหรือสลักเพื่อยึดให้แม่พิมพ์นี้ประกบติดกับอีกชิ้นหนึ่งไม่ให้ขยับ สำหรับขั้นตอนการเทน้ำโลหะลงไป เครื่องประดับที่ทำจากโลหะในสมัยทวารวดีที่พบในเมืองโบราณอู่ทอง มีทั้งทองคำ ดีบุก และตะกั่ว โดยเฉพาะมีการค้นพบตุ้มหูที่ทำจากดีบุกและตะกั่วเป็นจำนวนมาก ตุ้มหูเหล่านี้มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งแบบห่วงกลมเรียบไม่มีลวดลายแบบเดียวกับที่ปรากฏบนแม่พิมพ์ แบบที่ค่อนข้างแบนมีลวดลายคล้ายคลึงกับที่ปรากฏบนแม่พิมพ์ และยังพบตุ้มหูรูปแบบอื่น เช่น ตุ้มหูแบบห่วงกลมประดับด้วยปุ่มแหลม นอกจากนี้ยังพบแม่พิมพ์เครื่องประดับที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่เมืองโบราณสมัยทวารวดีแห่งอื่น เช่น เมืองโบราณจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้นแม่พิมพ์เครื่องประดับทั้ง ๒ ชิ้นนี้ เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับ ซึ่งพบเป็นจำนวนมากบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง ดังปรากฏหลักฐานการสวมใส่เครื่องประดับเหล่านี้ในประติมากรรมปูนปั้นและดินเผารูปบุคคลสมัยทวารวดี กำหนดอายุแม่พิมพ์ทั้ง ๒ ชิ้นนี้ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ หรือประมาณ ๑,๒๐๐ – ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว

ที่จัดแสดง : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง