ความสำคัญของอุทยาน

อุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นแหล่งการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ ตั้งอยู่ที่ ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีระยะทางห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 80 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ที่อุทยานฯ ตั้งอยู่ เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีความเก่าแก่มากว่า 800 ปี เป็นเส้นทางสาย เชียงใหม่ - เชียงดาว อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกันไปได้หลายประเทศ เช่น ประเทศพม่า และประเทศจีน เป็นต้น เส้นทางนี้ถือเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์การเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีการอ้างอิงหลักฐานจากโบราณวัตถุที่ใช้ในกองทัพของกรุงศรีอยุทธยาที่เดินทางผ่านมาในพื้นที่ ต.เมืองงาย ซึ่งหลักฐานชิ้นนี้ถูกค้นพบโดย “อาจารย์อัญเชิญ โกฎิแก้ว” เป็นศิลปินของ ต.เมืองงาย และเป็นผู้ที่ริเริ่มโครงการอุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นมา เมื่ออาจารย์ค้นพบจึงนำหลักฐานไปพิสูจน์จากนักวิชาการและนักโบราณคดี แล้ว พบว่าคือวัตถุที่พบนี้คืออาวุธที่ใช้ในกองทัพจริง จึงทำให้อาจารย์อัญเชิญสามารถมั่นใจได้ว่าพระนเรศวรฯ ได้ผ่านเส้นทางเมืองงาย และทำให้อาจารย์เกิดแรงบันดาลใจอย่างเต็มเปี่ยมที่ต้องการสร้างชิ้นงานที่ยิ่งใหญ่ออกมา ซึ่งในปัจจุบันอาจารย์อัญเชิญได้แบ่งพื้นที่โครงการออกเป็น 2 โครงการ ได้แก่
1.1) อุทยานตำนานช้าง ศึกษาเกี่ยวกับช้างในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ช้างในวรรณคดี ช้างในประวัติศาสตร์ ช้างในพระพุทธศาสนา เป็นต้น รวมไปถึงการศึกษาช้างศึกในการเดินทัพซึ่งเป็นงานประติมากรรมร่วมกับอุทยานพระนเรศวรฯ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมแล้ว
1.2) อุทยานกองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นโครงการที่เพิ่งเริ่มต้นได้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการเดินกองทัพครั้งสุดท้ายในบั้นปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เช่น วัฒนธรรมการแต่งกายทหาร การใช้อาวุธ การขี่ช้างงาน/ช้างศึก เป็นต้น โดยมีการปั้นงานประติมากรรมทหารเป็นจำนวนประมาณ 20,000 นาย และช้างศึกประมาณ 100 เชือก ซึ่งมีจุดเด่นที่สำคัญคือ หลักกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) และศาสตร์การเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ (Kinesiology) ในสัดส่วน 1:1 เทียบเท่าขนาดคนจริง จึงทำให้งานประติมากรรมแต่ละชิ้นมีความสมจริงและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยอาจารย์อัญเชิญต้องการนำเสนอและสร้างคุณค่าของวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางจิตใจ และให้ผู้คนได้เข้ามาศึกษาจากประติมากรรมที่เกี่ยวกับกองทัพเป็นตัวแสดงออก

สถานที่จัดเก็บต้นฉบับ