การเขียนลายเบญจรงค์

กรรมวิธีการผลิตเครื่องเบญจรงค์ในปัจจุบันเริ่มจากการหาวัตถุดิบที่เป็นเซรามิค (Ceramic) ซึ่งนิยมที่เคลือบด้วยสีขาวใช้เนื้อดินประเภทพอร์ซเลนหลังจากเลือกชนิดของวัตถุดิบได้แล้วต่อจากนั้นก็เลือกรูปทรงของวัตถุดิบซึ่งมีหลากหลายเช่นโถทรงต่างๆ หรือ ของใช้บนโต๊ะอาหาร (Table ware) หรือเครื่องใช้ทางสังฆภัณฑ์เมื่อเลือกได้แล้วว่าต้องการผลิตอะไรก็นำเซรามิคซึ่งผ่านการเคลือบมาแล้วนำมาล้างทำความสะอาดแล้วเช็ดชิ้นงานให้แห้ง จากนั้นจึงนำมาขึ้นแป้นวนเพื่อทำการกำหนดพื้นที่สำหรับการเขียนลายว่าจะเขียนลายบริเวณไหน และ บริเวณไหนเขียนลูกขั้น หรือ พื้นที่ไหนที่จะไม่เขียนก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของช่างเขียนลายแต่ละคน หลังจากนั้นจึงทำการตั้งตา การตั้งตา คือ การกำหนดช่องไฟของตัวลายแต่ละลายให้มีความเท่ากันเพื่อที่เวลาเขียนงานออกมาแล้วจะดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ลายไม่เกยกัน ไม่เล็ก หรือ ไม่ใหญ่เกินไป หลังจากนั้นจึงเริ่มลงมือเขียนลายด้วยน้ำทองเพื่อเป็นเส้นนำลายบนของขาวโดยใช้น้ำทอง ส่วนในลวดลายที่มีรายละเอียดสูง เช่น ลายประเพณีไทย หรือลวดลายที่เป็นเรื่องราวในวรรณคดี ต้องมีการลอกลาย หรือร่างเส้นบนพื้นผิวของของขาวก่อนจะลงลายน้ำทอง หรือ ตัดเส้นหลักก่อน เมื่อเขียนเสร็จให้ทิ้งไว้ให้แห้ง เมื่อแห้งดีแล้วจึงค่อยนำไปสู่กระบวนการลงสีต่อไป ซึ่งในอดีตจะใช้พู่กันในการเขียนลาย และเขียนบนแป้นวน ต่อมาได้มีการประยุกต์เป็นสลิงเข็มฉีดยาตัดหัว และ จะเป็นการเขียนสด แต่ยังปรากฏวิธีการเขียนลายบนแป้นวน พอเขียนลายเสร็จ จึงจะนำมาลงสีต่อเพื่อนำไปเผาที่อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส ประมาณ 4-6 ชั่วโมง โดยคุณภาพของสีที่ออกมาจะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย เช่น คุณภาพของสี อุณหภูมิความร้อนที่เหมาะสม ระยะเวลาที่ใช้ต้องมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด