ปอดและแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่สำคัญของจังหวัดตราด

รายละเอียด

ตามปกติแล้วต้นไม้ทุกต้นต้องมีการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศแล้วเปลี่ยนแปลงให้อยู่ในรูปสสารและสารเคมีรูปแบบต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของเนื้อไม้และทุกส่วนของต้นไม้ซึ่งทำให้มันเกิดการเจริญเติบโต พร้อมกันนั้นก็ปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนซึ่งเป็นก๊าซที่สิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดใช้ในการหายใจออกมาพร้อมๆ กัน ดังนั้นการมีอยู่ของต้นไม้จึงไม่แตกต่างจากการมีเครื่องฟอกอากาศ และยิ่งมีต้นไม้มากเท่าไหร่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตซึ่งรวมถึงมนุษย์และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้นมีปริมาณลดน้อยลงเท่านั้น การที่ต้นไม้ดูดซับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วเปลี่ยนเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ของมันนี้เองที่เราเรียกคุณสมบัตินี้ว่า “ต้นไม้เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอน”

ป่าชายเลนมีความสามารถในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงและเร็วกว่าป่าประเภทอื่นเนื่องจากไม้ในป่าชายเลนมีอัตราการสังเคราะห์แสงสูง อีกทั้งพรรณไม้ป่าชายเลนยังมีส่วนประกอบต่าง ๆ ของลำต้นมากกว่าต้นไม้ปกติ โดยเฉพาะระบบรากที่ทั้งมีปริมาณมากและมีรูปแบบหลากหลาย ซึ่งกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าต้นไม้ในป่าชายเลนมีปริมาณและน้ำหนักเนื้อไม้ หรือที่เราเรียกว่า “มวลชีวภาพ” มากกว่าต้นไม้ปกติเป็นอย่างมาก นอกจากนี้กระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ในดินยังเกิดขึ้นช้าเนื่องจากสภาพไร้ออกซิเจนจากการท่วมขังของน้ำในป่าชายเลนยิ่งทำให้กระบวนการสะสมเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการย่อยสลายมาก ดังนั้นด้วยขนาดพื้นที่ของป่าชายเลนของบ้านท่าระแนะและตำบลหนองคันทรง คงจะไม่เกินเลยเลยที่จะกล่าวว่า พื้นที่ป่าชายเลนแห่งนี้ เป็นอีกแหล่งเก็บกักคาร์บอนและเป็นปอดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดตราด

ป่าชายเลนบ้านบ้านท่าระแนะเป็นป่าชายเลนแบบขึ้นอยู่ริมร่องน้ำหรือทางน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเล และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ป่าชายเลนของตำบลหนองคันทรงซึ่งมีพื้นที่ที่ยังคงสภาพธรรมชาติตามมติของคณะรัฐมนตรีมากถึง 5,260.48 ไร่ ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 จาก 27 ตำบลของจังหวัดและคิดเป็นประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าชายเลนจังหวัดตราด และเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนมากถึง 44,798 ตัน ดังนั้นหากเปรียบจังหวัดตราดเป็นร่างกายแล้ว “ป่าชายเลนบ้านท่าระแนะ” ก็เป็นเสมือนปอดอีกแห่งหนึ่งที่ช่วยฟอกอากาศในบริสุทธิ์ โดยมีต้นโกงกางใบเล็ก เป็นพระเอกเบอร์หนึ่ง เนื่องจากมีมวลชีวภาพสูงที่สุด ส่วนพระรองก็คือ ต้นแสมขาว และต้นตะบูนขาวตามลำดับ